All News · May 27, 2022

3 ทศวรรษ พฤษภาทมิฬ ถอดบทเรียนในอดีต สู่ประชาธิปไตยที่ใฝ่ฝัน

เรื่อง : ปนัดดา ฤทธิมัต

เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี “พฤษภาทมิฬ” หนึ่งในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย มติชนสุดสัปดาห์จัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

เพื่อร่วมรำลึกถึงวีรชนคนกล้าที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมถอดบทเรียนในอดีต ที่ประชาชนต่างฝันไกล…แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึง

“พฤษภาทมิฬ” เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เฉพาะที่พบศพมีจำนวน 44 ศพ ปัจจุบันผ่านมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว มองว่าควรนำเอกสารลับทางราชการในขณะนั้นมาเปิดเผย เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี พ.ศ. 2533 หนังสือพิมพ์วิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ในสมัยนั้น ฉบับเดือนธันวาคม หน้าปกเขียนว่า “ลาทีรัฐประหาร” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้น คนมองว่ารัฐประหารได้หมดไปจากสังคมไทยแล้ว และเชื่อว่าการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2529 จากประชาธิปไตยครึ่งใบจะไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบได้ จากนี้ไปการแก้ไขปัญหาจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่การนำรถถังออกมายึดอำนาจ หรือฉีกรัฐธรรมนูญอย่างที่ผ่านมาและการปราบปรามประชาชนก็จะกลายเป็นตำนานที่เล่าขานกัน

แต่เวลาผ่านไปเพียง 2 เดือน ก็เกิดการยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร จากนักศึกษาก็ได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อทุกอย่างไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่คาดไว้ รัฐธรรมนูญถอยหลัง องค์การนักศึกษาจาก 24 มหาวิทยาลัยของรัฐจึงออกมาชุมนุม

เราเติบโตมาพอสมควรในการยอมรับความเห็นต่าง เลือกพรรคต่างกันได้ ชอบนักการเมืองคนไหนก็แสดงออกไปในวันเลือกตั้งแล้วจบ แต่ของเราไม่เป็นธรรม เลือกตั้งไปก็ไม่จบ เพราะมี ส.ว. ดังนั้นจึงคิดว่าเราต้องกลับสู่วิถีทางที่เจ้าของประเทศเคารพกติกา 1 คน 1 เสียง จบที่การเลือกตั้ง แล้วบริหารบ้านเมืองต่อไป

โดยรัฐบาลอยู่ภายใต้การตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ และฟังเสียงประชาชน วันนี้ไม่ใช่เพียงแค่ครบ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่เป็นวันที่กำลังจะครบ 90 ปีของประชาธิปไตย เราต้องให้การปฏิวัติรัฐประหารจบไป

รศ.ดร.ปริญญาเปรียบประชาธิปไตยเหมือนต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ต้นนี้ไม่มีทางที่จะออกรากเติบโตให้เข้มแข็งเป็นร่มเงาให้ประชาชนทุกคนใช้ประโยชน์ได้เลย เพราะมันถูกโค่นอยู่เรื่อย ๆ จากนี้ไปเมื่อทุกคนอยู่ใต้กติกาและความเสมอภาค ก็เชื่อว่าความเห็นต่างจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

“จากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สังคมไทยได้เรียนรู้พอสมควร แต่กองทัพผมเป็นห่วงว่าเรียนรู้อะไรบ้าง รายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเต็มไปด้วยแถบดำ ๆ คาดไว้ บัดนี้ผ่านไป 30 ปี ตามเวลา 20 ปีก็เปิดเผยได้ ได้เวลาแล้วที่จะต้องเปิดเผย เพื่อให้จบในแง่ของข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะได้ช่วยกันป้องกัน

จากนี้ไปเราจะขัดแย้งหรือเห็นต่างแค่ไหน เราจะไม่ฆ่ากันอีก เราจะไม่นองเลือดกันอีก และทุกคนเสมอกันด้วยกติกา รวมถึงกองทัพด้วย ผมว่านี่คือทางออกของประเทศไทย ทั้งทหาร ประชาชน และฝ่ายตุลาการ สิ่งใดก็ตามที่ทำให้ประชาธิปไตยวนเวียนอยู่ทุกวันนี้ต้องเลิกให้หมด” รศ.ดร.ปริญญากล่าว

ด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีชุดความคิดหนึ่งที่สำคัญคือ อย่าให้การรัฐประหารสำเร็จ แต่สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดในช่วงการรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 คือ พวกเราที่เป็นภาคประชาชนที่ได้รับบทเรียนจากปี 2535 เราแตกแยกกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ และบรรดารุ่นพี่ใหญ่ อยู่ฝ่ายสนับสนุนหรือนิ่งเฉยต่อผู้ก่อการยึดอำนาจ ทำให้ภาคประชาสังคมในช่วงนั้นอ่อนแอลง และไม่สามารถดำรงบทบาทในสิ่งที่ควรได้ เราไม่สามารถนำบทเรียนที่ได้จากปี 2535 มาเป็นกลไกที่ช่วยต่อสู้และยับยั้งการรัฐประหารได้

“แม้โครงสร้างทางอำนาจและการเมืองภาพใหญ่จะถดถอย แต่ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนนั้นก้าวหน้ามากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต แม้ว่าในอดีตความตื่นตัวในหมู่ประชาชนจะมีความขัดแย้งกัน แต่ผมคิดว่าการที่สังคมจะวิวัฒน์ไปได้ต้องดีเบต และนี่คือดีเบตใหญ่ของภาคประชาสังคม สิ่งที่ผมได้จากการต่อสู้กับรัฐประหารมาแล้ว 3 ครั้ง สิ่งที่ได้เรียนรู้คืออย่ายึดติดตัวบุคคล ให้ยึดถือหลักการ เพราะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน” นายสมบัติกล่าว

ขณะที่ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ กล่าวเสริมว่า การเมืองของเราเป็นสมการซึ่งมีตัวแปรที่ต้องถอดออกมาเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าทหารถอนตัวเองออกมา อย่างน้อยที่สุดตัวแปรก็หายไปหนึ่ง บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น แต่โจทย์ที่แค่ดึงตัวแปรออกมาก็ไม่ง่าย การปฏิวัติครั้งล่าสุดในปี 2557 ไม่รู้ว่าใครเป็นฝ่ายยุยงใคร ทหารไปยุยงให้พลเรือนมาเรียกทหารออกมา หรือประชาชนอยากเรียกทหารออกมา

เพราะฉะนั้นจะยกภาระทั้งหมดมาให้ทหารถอดตัวแปรออกไปยังไม่พอ ยังมีกลุ่มทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองบ้านเรา แต่อย่างน้อยที่สุดถอดตัวแปรของทหารออกไป โจทย์ก็หายไปบรรทัดหนึ่งแล้ว

อ่านข่าวต้นฉบับ: 3 ทศวรรษ พฤษภาทมิฬ ถอดบทเรียนในอดีต สู่ประชาธิปไตยที่ใฝ่ฝัน



ที่มา : Prachachat/d-life
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…3 ทศวรรษ พฤษภาทมิฬ ถอดบทเรียนในอดีต สู่ประชาธิปไตยที่ใฝ่ฝัน

"เอ ทินพันธ์" แฟน "แอน" คลั่งรักเข้าแล้ว โดน "น้องปีใหม่" ตกด้วยความน่ารัก งานนี้มีอุ้มกลับบ้าน
เบนท์ลีย์ มอเตอร์ส เผยผลประกอบการ Q1 กำไรเพิ่ม 162 % พร้อมแผนเพิ่มรถไฮบริดปีนี้

Home