All News · October 6, 2022

ดอลลาร์แข็งค่า ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่า ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือนสิงหาคมเพิ่มสูงขึ้น ส่งสัญญาณว่าภาคบริการสหรัฐยังคงขยายตัว ขณะที่ปัจจัยในประเทศนักลงทุนกังวลกรณี โอเปกลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ซึ่งจะส่งผลราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และดันเงินเฟ้อขึ้นตาม

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/10) ที่ระดับ 37.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (5/10) ที่ระดับ 3.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมาสหรัฐจะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโดยสถาบัน Institute of Supply Management (ISM) เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 56.7 ส่งสัญญาณว่าภาคบริการสหรัฐยังคงขยายตัว และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระะดับ 56.0

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าสหรัฐ เดือนสิงหาคม ขาดดุลที่ระดับ 6.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 6.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเดือนก่อนหน้าที่ 7.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงสถาบันออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยตัวเลขการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เดือนกันยายน ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 208,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ระดับคาดการณ์ 200,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าเดือนก่อนหน้า 185,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ตัวเลขข้างต้นเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 110.10 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 3.81% โดยนักลงทุนได้ปรับเพิ่มน้ำหนักในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน

โดยความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 อยู่ที่ระดับ 68% และความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 อยู่ที่ระดับ 32% ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราว่างงานในวันพรุ่งนี้ซึ่งสะท้อนสภาพตลาดแรงงานสหรัฐ และหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ว่าเมื่อวานนี้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคชะลอตัวลงในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับประเด็นเงินเฟ้อ หลังการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นการปรับลดเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน และเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลให้เงินเฟ้ออาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยยังคงจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดและพร้อมปรับนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.13-37.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/10) ที่ระดับ 0.9914/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (5/10) ที่ระดับ 0.9927/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยวันนี้มีรายงานดัชนียอดค้าปลีกยูโรโซนเดือนสิงหาคม หดตัวที่ระดับ 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากเดือนที่ผ่านมา มีการหดตัวที่ระดับ 0.4% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9926-0.9926 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9891/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/10) ที่ระดับ 144.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/10) ที่ระดับ 144.47/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะยาว ซึ่งส่งผลให้ผลต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.48-144.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนคนขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (6/10), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (7/10), อัตราว่างงานสหรัฐ (7/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7/-5.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์แข็งค่า ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์แข็งค่า ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

สื่อนอกรายงาน อดีตตำรวจกราดยิง "ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู" ดับ 38 รวมเด็ก 3 ขวบ “ผู้นำอังกฤษ-ออสเตรเลีย” ทวีตแสดงความเสียใจ กูเกิลขึ้นโบดำไว้อาลัย
เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เร่งตัดยอดน้ำเหนือ ทางลัดลงทะเลอ่าวไทย

Home