All News · October 31, 2022

ดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนคาด เฟดขึ้นดอกเบี้ยแตะ 5% มีนาคมปีหน้า

ดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนคาด เฟดขึ้นดอกเบี้ยแตะ 5% ในเดือนมีนาคมปีหน้า เพิ่มขึ้น 0.25% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุเหตุจากเงินเฟ้อสูงจนน่ากังวล และเฟดต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 38.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อศุกร์ (28/10) ที่ระดับ 37.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสำนักข่าวบลูมเบิร์กและรอยเตอร์รายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5% ในเดือนมีนาคมปีหน้า เพิ่มขึ้น 0.25% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ จากนั้นอีก 0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคมต่อด้วย 0.25% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ และ 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 5%

นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ให้เหตุผลที่ทำให้คาดการณ์เช่นนี้ว่าเป็นเพราะเงินเฟ้อที่สูงจนน่ากังวล และต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจเมื่อการกวดขันทางการเงินสิ้นสุดลงและรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็พยายามเลี่ยงไม่ให้สภาวะทางการเงินผ่อนคลายก่อนถึงเวลาสมควร ด้าน Few Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันในการประชุมนโยบายวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ และให้น้ำหนัก 51.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ธ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย. 65 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน

ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่เครื่องชี้้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.98-38.075 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 38.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 0.9947/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/10) ที่ระดับ 0.9743/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงวิ่งอยู่ในกรอบ หลังไร้ปัจจัยใหม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยทิศทางของดอลลาร์สหรัฐที่ยังคงแข็งค่า ทำให้ยูโรยังคงมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงในระยะสั้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9966 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9933/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 148.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อศุกร์ (28/10) ที่ระดับ 147.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเดือน ก.ย.ร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผลผลิตในอุตสาหกรรมที่ซบเซา แม้ผลผลิตในไตรมาส 3/2565 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ข้อมูลระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง 1.6% ในเดือน ส.ค.หลังจากที่มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน ลดลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลง 0.8% โดยได้รับแรงกดดันหลักมาจากผลผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งได้ฉุดรั้งการเติบโตโดยรอบที่ 1.85% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.46-148.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือน ต.ค.จากเฟดสาขาดักลัส (31/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน ต.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (1/11), ดัชนีภาคการผลิตเดือน ต.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/11), ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (2/11), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ต.ค. (3/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7/-5.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนคาด เฟดขึ้นดอกเบี้ยแตะ 5% มีนาคมปีหน้า



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนคาด เฟดขึ้นดอกเบี้ยแตะ 5% มีนาคมปีหน้า

แบงก์ชาติ เผย ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/65 ฟื้นตัวต่อเนื่อง
รฟม.เปิดเวทีรับฟัง ปชช.โครงการระบบขนส่งฯ เชียงใหม่ สายสีแดง

Home