All News · December 3, 2022

ธปท.-BIS ย้ำ ดิจิทัล-climate change ความท้าทายธนาคารกลางทั่วโลก

“ธปท.-BIS” ชี้ ธนาคารทั่วโลกเผชิญโจทย์ท้าทายจากบริบทเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง “เศรษฐพุฒิ” มองเศรษฐกิจโตแตกต่างกัน ย้ำนโยบายการเงินต้องสมดุล ระบุประเด็น “ดิจิทัล-การเปลี่ยนแปลงภูมิภาคอากาศ” เป็นความท้ายทายระยะยาว 

วันที่ 3 ธันวาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) จัดงาน BOT-BIS conference ในหัวข้อ “Central Banking Amidst Shifting Ground” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานครบรอบ 80 ปีของ ธปท. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ณ ห้องภัทรรวมใจ ธปท.

โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าการธนาคารกลางมากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้ง ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศ องค์กรในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ตลาดจนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ร่วมหารือเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตามพันธกิจหลักของธนาคารกลาง ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง หรือ shifting ground

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินจากบริบทเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งทำให้ต้องปรับเปลี่ยนกรอบความคิดในการดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทใหม่

นอกจากนี้ กระแสโลกใหม่อย่างดิจิทัลทำให้ต้องหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน และเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากเพราะมีหลายตัวแปรที่กระทบ

ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องปรับมุมมอง แนวนโยบาย และเครื่องมือ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด ทันการณ์ รวมถึงประสานงานกับหลายภาคส่วนมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารกลางได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับประเด็นความท้าทายระยะสั้น แม้ภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกัน แต่ผู้ร่วมเสวนาได้เน้นถึงความสำคัญในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ผ่านการผสมผสานนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (ในกรณีที่จำเป็น) รวมทั้งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาสมดุลของการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในยุโรปและการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งจะเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกจากการแบ่งขั้วอำนาจและการเกิดกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (deglobalization) โดยผู้เสวนาได้เสนอให้องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ (multilateralism) และโลกาภิวัฒน์ (globalization) มากขึ้น

ในส่วนของความท้าทายระยะยาว มีการหารือใน 2 ประเด็นหลัก คือ

1.ประเด็นดิจิทัล การสร้างสมดุลของนโยบายด้านดิจิทัลของธนาคารกลางระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ภาคการเงินนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ และเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึง รวมทั้งทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นรายเล็กที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ภายใต้การบริหารความเสี่ยงทั้งต่อระบบการเงินและผู้ใช้บริการ โดยเห็นว่าควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินสามารถใช้ข้อมูลเพื่อช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งหลายประเทศอยู่ในช่วงการศึกษาหรือทดสอบการใช้งานในการโอนเงินระหว่างประเทศ (cross-border) การใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale) และการใช้งานสำหรับรายย่อย (retail)

ซึ่งผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ชัดเจนในการใช้ CBDC สำหรับธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศและการใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการลดระยะเวลาและต้นทุนการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใสของธุรกรรม และรองรับการใช้งานในรูปแบบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

2.ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับผลกระทบดังกล่าว รวมถึงเพิ่มบทบาทเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในการดำเนินนโยบายของธนาคารธนาคารกลางเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ อาจครอบคลุมทั้ง

(1) นโยบายการเงินเพื่อดูแลผลกระทบของ climate change ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

(2) นโยบายดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงิน เช่น การกำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐาน การวิเคราะห์สถานการณ์และทดสอบภาวะวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ (climate scenario analysis and stress testing) ต่อภาคการเงิน รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินทุนให้กิจกรรมที่อยู่ระหว่างปรับตัว รวมถึงเน้นการให้ความช่วยเหลือเรื่องการยกระดับความรู้ โดยเฉพาะแก่ SMEs โดยธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรเงินทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมากขึ้น ผ่านการประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks) รวมถึงกองทุนสถาบัน (institutional fund) เพื่อดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น

อ่านข่าวต้นฉบับ: ธปท.-BIS ย้ำ ดิจิทัล-climate change ความท้าทายธนาคารกลางทั่วโลก



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ธปท.-BIS ย้ำ ดิจิทัล-climate change ความท้าทายธนาคารกลางทั่วโลก

แบงก์จับตาเงินเฟ้อ-ประชุม OPEC หนุนเงินบาทแข็งค่า 34.30 บาทต่อดอลลาร์
ฮือฮา "เดียร์น่า" เช็คอินเกาหลี โพสต์ภาพคู่ "ลิซ่า BLACKPINK" บอกไกด์คนนี้ดูแลดีมาก

Home