All News · December 28, 2022

“ชัชชาติ” รื้อ-ซ่อม-เชือด 2566 สร้างผลงานกรุงเทพน่าอยู่

“ทีมชัชชาติ” สรุปผลงาน 7 เดือนแรก นโยบายหาเสียง “9 ด้าน 9 ดี” เจออุปสรรคกฎหมาย-อำนาจบริหารจัดการมีจำกัด ปี 2566 เดินหน้าสร้างผลงานต่อเนื่อง ขนมาตรการแก้น้ำท่วม-รถติด-ฝุ่นจิ๋ว-สวน 15 นาที จัดระเบียบ 1.8 หมื่นผู้ค้าหาบเร่แผงลอย หนักใจ “คอร์รัปชั่น” แก้ยากสุด แต่ต้องทำ เชือด “กรุงเทพธนาคม” เป็นตัวอย่างทำงานโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ทีมชัชชาติ” สรุปผลงานรอบ 6 เดือน 21 วัน ในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร สรุปผลงาน 9 ด้าน 9 ดี ตามนโยบายหาเสียง 216 ข้อ รวมทั้งกางโรดแมปการทำงานปี 2566 เป้าหมายเพื่อผลักดันกรุงเทพฯ เข้าทำเนียบท็อป 50 เมืองน่าอยู่ของโลก ภายในปี 2570

โดยนโยบาย “9 ด้าน 9 ดี” ประกอบด้วย 1.ปลอดภัยดี 2.เดินทางดี 3.สุขภาพดี 4.สร้างสรรค์ดี 5.สิ่งแวดล้อมดี 6.โครงสร้างดี 7.เรียนดี 8.เศรษฐกิจดี 9.บริหารจัดการดี โดยมีบุคลากร กทม. 88,000 คน มีโครงสร้างองค์กร 50 เขต 14 สำนักเฉพาะกิจ

ชำแหละจุดดี-ด้อย กทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.มี 4 จุดแข็งคือ 1.มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด สัดส่วน 31.88% ของจีดีพีประเทศไทย 2.ค่าครองชีพของ กทม.ไม่สูงมากนัก หากเทียบกับเมืองหลวงระดับโลก 3.มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะพลิกโฉมเมืองหลวง โฟกัสเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้า และ 4.มีจุดขายการท่องเที่ยวเป็นเมืองหลวงที่มีประวัติศาสตร์กว่า 240 ปี

ขณะเดียวกัน มี 9 จุดอ่อนที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ได้แก่ 1.คอร์รัปชั่น คะแนนความโปร่งใสของประเทศไทยลำดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ 2.Ease of Doing ความสะดวกและคล่องตัวในการทำธุรกิจ ติดกับดักใบอนุญาตมีหลายหน่วยงาน 3.ทักษะการศึกษาพลเมืองตามสกอร์ PISA (ผลทดสอบนานาชาติ) ยังอยู่ในระดับต่ำ 4.ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เฉลี่ย กทม.มีสัดส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศดีเพียง 25% ใน 1 ปี

5.กทม.อยู่ลำดับที่ 9 ของดัชนีความเสี่ยงสภาพอากาศยอดแย่ของโลก 6.เป็นเมืองที่ปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะสร้างปัญหาก๊าซเรือนกระจกถึง 53 ล้านตัน/ปี 7.ปัญหารถติดเฉลี่ยใช้เวลาบนท้องถนน 71 ชั่วโมง/ปี

8.โรงพยาบาลระดับตติยภูมิมีเยอะ+คุณภาพสูง แต่ศูนย์สาธารณสุขชุมชนต้องปรับปรุง 9.อัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชากรต่ำ เฉลี่ย 6.9 ตร.ม./คน หากนับพื้นที่ที่ต้องการใช้จริงจะเหลือเพียง 0.92 ตร.ม./คน เทียบกับมาตรฐานเมืองหลวงโลกอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน

ลุยแก้รถติด-น้ำท่วมกรุง

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า นโยบายด้านการจราจรแก้ปัญหารถติด พบว่า พื้นที่ กทม.มีจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ 100 จุด ตัวอย่างบริเวณโค้งถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศาลอาญา, แยกถนนรัชดาตัดถนนสุทธิสาร และแยกอโศกมนตรี เป็นต้น

ปี 2566 วางแผนดำเนินการ อาทิ ล้างทำความสะอาดพื้นผิวจราจร 500 แห่ง, ทาสีโคลด์พลาสติก 210 แห่ง, ปรับปรุงทางม้าลายสีขาวที่ซีดจาง/ชำรุด 500 แห่ง, ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางแยก 2 แห่ง, ติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม 50 แห่ง

ปัญหารถติดมีจุดฝืดทำให้เกิดปัญหารถติด 266 จุด อยู่ระหว่างทำแผนแก้ไขปัญหาเชิงกายภาพ และร่วมมือใกล้ชิดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติพัฒนาระบบ ITMS-Intelligent Traffic Management System

สำหรับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหา 3 น้ำ “น้ำฝน-น้ำเหนือ-น้ำหนุน” พบว่ามีจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำฝน 661 จุด, จุดเสี่ยงน้ำเหนือ-น้ำหนุน 119 จุด ที่ผ่านมามีการซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วม 21 แห่ง

ปี 2566 เตรียมแผนบรรเทาหากเกิดน้ำรั่วซึมแนวป้องกันริมเจ้าพระยา 73 แห่ง

รุกคืบฝุ่นจิ๋ว-สวน 15 นาที

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 ผลการ 6 เดือนแรกถือว่าน่าพอใจ ค่าเฉลี่ยฝุ่นจิ๋ว ณ พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 27 ไมโครกรัม/ลบ.ม. จากค่าเป้าหมายไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

กทม.ดูแล 3 ส่วน คือ “การตรวจ” ได้แก่ ตรวจรถควันดำ 58,711 คัน ซึ่งอำนาจของ กทม.มีจำกัด ตรวจได้เพียงรถ 4 ล้อลงมา ต้องประสานกับกรมการขนส่งทางบก และตรวจโรงงาน 2 ครั้ง/เดือน, ตรวจสอบแพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้างและถมดิน รวม 1,900 แห่ง

โดยมี 12 มาตรการหลัก อาทิ แจ้งเตือนล่วงหน้าผ่าน SMS, แอป Traffy Fondue ถ้าพบพื้นที่วิกฤตจะสั่งให้ work from home 100%, ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักและสายรอง, เลี่ยงเส้นทางรถบรรทุก, ขยายพื้นที่จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษกขยับออกไปเป็นถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก เป็นต้น

หนึ่งในนโยบายไฮไลต์คือ “สวน 15 นาที” โดยกางรัศมีทุก 3 ตร.กม. จะมีสวนสาธารณะใช้เวลาเดินเท้าถึงภายใน 15 นาที

ล่าสุด กทม.มีพื้นที่ยืนยันทำสวน 15 นาที จำนวน 98 แห่ง แบ่งเป็นที่ดิน กทม. 39 แห่ง หน่วยงานรัฐ 34 แห่ง เอกชน 25 แห่ง ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง ในอนาคตหากพัฒนาครบทั้ง 98 แห่ง จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ กทม. 641 ไร่

แก้หาบเร่ 1.8 หมื่นผู้ค้า

สำหรับปัญหาหาบเร่แผงลอย แยกวิธีจัดการปัญหา 2 ส่วน คือ กลุ่มค้าขายในจุดผ่อนผันกับนอกจุดผ่อนผัน

โดยจุดผ่อนผันมี 95 จุด ผู้ค้า 4 พันราย จัดระเบียบไปแล้ว 55 จุด กำลังดำเนินการอีก 31 จุด เช่น ซอยรางน้ำ, ถนนวิทยุ เป็นต้น ส่วนบริเวณนอกจุดผ่อนผันมี 618 จุด ผู้ค้า 13,964 ราย

แนวทางจะจัดระเบียบผ่านมาตรการจูงใจทำ Hawker Center หรือศูนย์อาหาร ปัจจุบันสามารถทำ Hawker Center ได้แล้ว 125 จุด มี 2 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ บริเวณประตู 5 สวนลุมพินี กับบริเวณเขตมีนบุรี

อัพเกรดรักษาพยาบาล

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ภาคสาธารณสุขมีการยกเครื่องอีกครั้ง โดยนำ telemedicine มาใช้ และเปิดพื้นที่นำร่องการใช้เทคโนโลยียกระดับการให้บริการ

ทั้งนี้ การใช้ telemedicine ผ่านแอป “SoonRuk BMA-หมอ กทม.” มี 9 โรงพยาบาลสังกัด กทม.เข้าร่วม ช่วยลดเวลาปรึกษา ตรวจรักษา ตรวจสอบสิทธิ นัดหมาย จองคิว และสามารถส่งต่อข้อมูลจาก 69 สาธารณสุขชุมชนมาสู่ 9 โรงพยาบาล กทม.ได้อย่างไร้รอยต่อ

ไฮไลต์อยู่ที่ลดเวลาการส่งต่อผู้ป่วย จากศูนย์สาธารณสุขชุมชนสู่โรงพยาบาลเหลือไม่เกิน 30 นาที

อุ้มชูการศึกษา-เปราะบาง

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม. ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คัดกรองเด็กยากจนพิเศษรับทุน 6,159 คน ปลดล็อกครูโดยเพิ่มเจ้าหน้าที่ธุรการและการเงินโรงเรียน ลดภาระงานเอกสารครู และปรับเกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะให้เป็นมาตรฐานสากล

มีมาตรการ “Open Education เปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้” ในวิชาที่นักเรียนสนใจ อาทิ เปิดสอน coding การตัดต่อวีดิโอ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง e-Sport, มาตรการกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) 54 โรงเรียน, เช่าคอมพิวเตอร์ใหม่ให้ทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. ฯลฯ

ด้านสวัสดิการคนไร้บ้าน จัดจุด drop-in 4 จุด 1.หัวลำโพง 2.ราชดำเนินกลาง 3.ตรอกสาเก 4.ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ให้บริการตัดผม ซัก-อบ-อาบ ตรวจสอบสิทธิสวัสดิการ ตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนจ้างงาน จัดระเบียบการแจกอาหาร และจัดหาที่อยู่อาศัยทั้งแบบอยู่อาศัยระยะยาว และชั่วคราว (บ้านพักคนละครึ่ง)

แก้โจทย์หิน-คอร์รัปชั่น

ประเด็นปัญหาความไม่โปร่งใสที่เกลี่ยความรับผิดชอบทั้ง 4 รองผู้ว่าฯ กทม. ตามหน่วยงานที่กำกับดูแล นายจักกพันธุ์ยอมรับว่า ทำงาน 6 เดือนเศษยังไม่สามารถวัดผลงานเรื่องนี้ได้ชัดเจน แต่ผู้บริหาร กทม.ชุดปัจจุบันมีการผลักดันนโยบายความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าคะแนนความโปร่งใสของ กทม.น่าจะดีขึ้น

นายวิศณุกล่าวว่า ในส่วนสำนักการโยธา มีการพัฒนาระบบยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เบื้องต้นเปิดให้ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 300 ตร.ม. มีผู้ยื่นออนไลน์เพียง 4 รายเท่านั้น

เฟสต่อไปจะมีการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้าง และเปิดเผยข้อมูลระหว่าง “ผู้ขอ-ผู้ให้” ใบอนุญาต ว่ามีการปฏิบัติตามเกณฑ์หรือไม่ ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ กทม. เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ตัวอย่างการแก้ไข เริ่มจากวิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 100% คือ “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” หรือ KT มีการปรับปรุงระบบบัญชีให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และแก้ไขระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ลดการใช้กรุงเทพธนาคมเป็นช่องทางพิเศษในการใช้งบประมาณของ กทม.

นายศานนท์กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านนโยบายของ
ผู้ว่าราชการ กทม. (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ที่มอบนโยบายให้เปิดเผยทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่กฎหมายห้ามเปิดเผย เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายความมั่นคง

โดยก่อนหน้านี้ กทม.ได้มีการเปิดเผยสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่าง กทม. กับ KT ผ่านเว็บไซต์ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ประชาชนสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ตลอดเวลา

อ่านข่าวต้นฉบับ: “ชัชชาติ” รื้อ-ซ่อม-เชือด 2566 สร้างผลงานกรุงเทพน่าอยู่



ที่มา : Prachachat/property
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…“ชัชชาติ” รื้อ-ซ่อม-เชือด 2566 สร้างผลงานกรุงเทพน่าอยู่

ด่านหนองคายคึกคัก! รถบรรทุกต่อคิวแน่น เร่งส่งออกก่อนหยุดยาวปีใหม่
"อนุทิน" เซ็นจัดสรรงบบัตรทอง 66 แล้ว รพ.ได้เงิน 6 ม.ค. แจงป้องกันโรค "นอกสิทธิ" จัดบริการตามเดิมจนกว่าตีความชัด

Home