All News · February 11, 2023

ฤดูหาเสียง คลุกฝุ่น PM 2.5

คอลัมน์​ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อสภาวะสุขอนามัยของคนไทยต่อไปอย่างน้อยไปจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยปัญหาฝุ่นจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปัจจุบันที่เริ่มต้นจากกิจกรรมคมนาคมขนส่ง ด้วยรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ก่อมลพิษเป็นฝุ่น PM 2.5 ก็จะถูกผสมโรงจากฝุ่น PM 10 ที่เกิดจากฤดูไฟป่า การเผาในที่โล่ง การเผาอ้อย การเผ่าไร่เพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรกร และการเผาข้ามแดน เข้ามาซ้ำเติม จนหลายเมืองใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก จะต้องถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นชนิดที่ว่า แสงอาทิตย์ส่องไปถึงพื้น

สภาวการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกือบจะกลายเป็นฤดูฝุ่น ที่คนไทยเริ่มจะคุ้นเคยกับมันดี จากความคุ้นเคยที่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นมลพิษอย่างน้อยปีละ 4 เดือนกำลังจะแปรเปลี่ยนเป็น “ความไม่ใส่ใจ” ที่จะแก้ปัญหาไปที่ต้นกำเนิดฝุ่นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 อันเนื่องมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล การเผาในที่โล่ง ไม่ได้ถูกแก้ไข

จากแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านฝุ่นละอองปี 2566 ที่ ครม.เพียงแค่ “รับทราบ” ตามข้อเสนอของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เสนอกรอบที่เรียกว่า “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ประกอบด้วย

1) สื่อสารเชิงรุก มีสาระสำคัญอยู่ที่การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันในทุกพื้นที่ เพื่อสื่อสารสถานการณ์ฝุ่นจากทุกภาคส่วนสู่ประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือและโต้ตอบ “fake news” โดยเน้นการสื่อสารผ่านสื่อสมัยใหม่อย่าง TikTok

2) ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน “วาระแห่งชาติ” และแผนที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ/ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แต่ละระดับให้เป็นกลไกในการอำนวยการ-สั่งการ-ประสานงานอย่างมีเอกภาพ, การเตรียมรับสถานการณ์ควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า ด้านความพร้อมกำลังคน บุคลากร อุปกรณ์/เครื่องมือพร้อมในการ “ดับไฟป่า” และการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะ ลดการระบายมลพิษจากภาคการจราจร

3) การยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ด้วยการ “ชิงเก็บลดเผา” การเผาในที่โล่ง จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าและพื้นที่ทางการเกษตร การสนับสนุนให้เกษตรกรนำตอซัง ฟางข้าว ใบอ้อย ไปใช้ประโยชน์เพื่อลดการเผา

4) กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวดและติดตามผลการดำเนินการ ด้วยปฏิบัติการเชิงรุก เพิ่มการลงพื้นที่ควบคุมและลดฝุ่นจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง

5) ลดจุด
ความร้อน ป้องกันควบคุมการเกิดไฟป่าและพัฒนาระบบพยากรณ์โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เครื่องมืออุปกรณ์มาใช้ปฏิบัติงาน สนับสนุนภารกิจเฝ้าระวังควบคุมป้องกันไฟป่า รวมไปถึงการสนับสนุนทางด้านงบประมาณต่าง ๆ

6) ผลักดันกลไกระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ roadmap และกำหนดเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับความร่วมมือในกรอบคณะกรรมการชายแดนและจังหวัดคู่ขนาน

และ 7) ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง เปิดโอกาสและช่องทางการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน ช่องทางร้องทุกข์ การแจ้งเหตุการเกิดไฟป่าและการเผาในที่โล่ง

จะสังเกตได้ว่า จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้อง “ยกระดับปฏิบัติการ” ฝุ่นละอองในปีนี้แทบจะทุกกระทรวงที่มีอยู่ในประเทศ แต่ผลของการยกระดับจะมีประสิทธิภาพต่อการแก้ไขปัญหาอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยมีความน่าเป็นห่วงที่ว่า ฤดูฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ในปีนี้ตรงพอดีกับช่วงการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ และอาจจะกลายเป็น “สุญญากาศ” ในการแก้ไขปัญหาในที่สุด

อ่านข่าวต้นฉบับ: ฤดูหาเสียง คลุกฝุ่น PM 2.5



ที่มา : Prachachat/economy
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ฤดูหาเสียง คลุกฝุ่น PM 2.5

ผู้ว่าฯ กทม.ส่งกำลังใจระหว่างมื้ออาหารแก่ 5 ผู้แทนเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง
ผลวิจัยเผย PM 2.5 ทำร้ายผิวหนัง เซลล์ทำงานผิดปกติ เกิดการอักเสบและแก่เร็ว

Home