All News · February 13, 2023

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตาดัชนีราคาผู้บริโภค CPI

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตาดัชนีราคาผู้บริโภค CPI คืนวันที่ 14 ก.พ.นี้ นักวิเคราะห์คาดตัวเลขลดลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกปีนี้คาดโต 1-2%  รุกตลากตะวันออกกลางให้ได้ 20%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/2) ที่ระดับ 33.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ที่ระดับ 33.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในคืนวันพรุ่งนี้ (14/2) ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะปรับตัวลดลงจากระดับ 6.5% สู่ระดับ 6.2% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ยังคงบ่งชี้ว่า เฟดยังคงสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 1/2566 สูงกว่าระดับ 2.1% ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 66.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.1 จากระดับ 64.9 ในเดือนมกราคม ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.38% สู่ระดับ 103.6290

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยในปี 66 ไว้ที่ 1-2% จากปี 65 คิดเป็นมูลค่า 289,937-292,808 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 10-10.1 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ กรมฯเตรียมขยายตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกโต 20%, เอเชียใต้ ตั้งเป้าเพิ่ม 10%, จีนเพิ่ม 1% จากปีที่ผ่านมา ติดลบ 7% ตลาด CLMV เพิ่ม 15% ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ยังคงรักษาตลาดไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.73-33.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/2) ที่ระดับ 1.0666/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ที่ระดับ 1.0711/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและข้อมูลตลาดแรงงานอื่น ๆ ในเดือนมกราคมของสหรัฐ ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหนุนแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาส 4/2565 เติบโต 0.0% หลังจากหดตัว -0.2% ในไตรมาส 3/2565 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0656-1.0691 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0671/73 ดอลลาร์สหัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/2) ที่ระดับ 131.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ที่ระดับ 130.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดยังรอติดตามเสนอรายชื่อผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ คนถัดไป และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของญี่ปุ่น (14/2) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.32-132.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ก.พ.จากเฟด นิวยอร์ก, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ม.ค. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ม.ค. จาก conference Board

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.6/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.25/-5.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตาดัชนีราคาผู้บริโภค CPI



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตาดัชนีราคาผู้บริโภค CPI

นายกฯ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ- ปัญหาอุทกภัย- ที่ดินทำกินพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี
ไม่ใช่แค่ 1 "ส.ฟุตบอล" ยืนยันส่ง "ทีมชาติไทย" อุ่นเครื่อง "2 ทีมยุโรป" ฟีฟ่าเดย์ ต.ค.

Home