All News · June 17, 2023

ทัพธุรกิจจีนทั่วโลกรวมตัว ปลุกลงทุนไทยครั้งใหญ่รอบ 10 ปี

ทัพนักธุรกิจจีนทั่วโลก 4 พันคนรวมตัวที่ประเทศไทย เผยยักษ์ธุรกิจจีนมาครบทุกวงการ “เกรท วอลล์-บีวายดี” ยกขบวนร่วมประชุม 24-26 มิ.ย.นี้ ที่ศูนย์สิริกิติ์ โรงแรมท่องเที่ยวรับอานิสงส์ “เจ้าสัวธนินท์” เปิดปาฐกถาพิเศษ บิ๊กธุรกิจไทย “ชาติศิริ-สนั่น-ศุภชัย-ฐาปน” ตบเท้าร่วม “บีโอไอ” ขึ้นเวทีปลุกกระแสการลงทุนครั้งใหญ่ ดันไทยคว้าโอกาสจีนย้ายฐาน ดึงอุตฯ “อีวี-5G-กรีน” จับตา “จีน” ครองแชมป์ FDI ในไทยยาวไปอีกทศวรรษ

ชุมนุม 4 พันนักธุรกิจจีน

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ((World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า การจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทั่วโลกกว่า 40ประเทศ ที่ได้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานแล้วประมาณ 2,500 คน โดยมาจากประเทศจีนประมาณ 1,000 คน โดยมาจากญี่ปุ่น มากเป็นอันดับสองกว่า 200 คน มาเลเซีย 170 คน สหราชอาณาจักร 20 คน เป็นต้น

รวมกับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนเข้าร่วมงานอีกกว่า 1,000 คน รวมผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมราว 3,500 คน ซึ่งไม่รวมบางส่วนพาครอบครัวมาเที่ยวพักผ่อนต่อ คาดว่าจะมีผู้เดินทางเข้ามารวมกว่า 5,000 คน

บิ๊กจีน “เกรท วอลล์-BYD” ร่วม

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า มีทั้งซีอีโอ เจ้าของบริษัทจีนจำนวนมาก หลายหลากอุตสาหกรรม ทั้งที่มีการลงทุนในประเทศไทยแล้ว และที่ยังไม่เคย อาทิ ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าก็มี บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์, บีวายดี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนรายใหญ่ ที่มาพร้อมบริษัทซัพพลายเชน นอกจากนี้ยังมีบริษัท Guangzhou Pharmaceutical Holdings Limited ผู้ผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรรายใหญ่ของจีน และเป็นเจ้าของเครื่องดื่มชาสมุนไพรเก่าแก่ที่ชื่อ “หวัง เหล่า จี๋” ที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย โดยเฉพาะในร้านหม่าล่า

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนรัฐบาล รองประธานสภา รวมถึงข้าราชการระดับสูงมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน ที่นำนักธุรกิจจีนเข้ามาเพื่อมาหาลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย เพราะปัจจุบันนักลงทุนจีนต้องการมองหาโอกาสออกไปลงทุนต่างประเทศ

กระตุ้นเศรษฐกิจเงินสะพัด

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวอีกว่า การจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนครั้งนี้มีนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลกมาประชุมมากที่สุดจากที่เคยจัดมา 15 ครั้ง ประเมินว่าการจัดประชุมช่วง 5 วันจะสร้างเงินสะพัด 400-500 ล้านบาท เข้ามาพักตามโรงแรมกว่า 10 แห่ง และใช้จ่ายตามศูนย์การค้าและแหล่งท่องเที่ยวจากนักธุรกิจจีน 2,500 คน หากรวมกับส่วนหนึ่งได้พาครอบครัวเข้ามาท่องเที่ยว รวมแล้วน่าจะในช่วงจัดประชุมมีเงินสะพัดเข้าประเทศหลักพันล้านบาท ซึ่่งนักธุรกิจจีนบางส่วนก็ยังมีแผนเดินทางไปท่องเที่ยวพัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ต่อหลังเสร็จการประชุม ยังไม่รวมกับการเจรจาการค้า หรือจับมือลงทุนในช่วงงานประชุม

“ครั้งนี้ถือว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่สอง หลังจากเป็นเจ้าภาพครั้งแรกเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคที่นายบรรหาร (ศิลปอาชา) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยครั้งนั้นก็จัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งตอนนั้นก็เปิดใหม่เช่นกัน”

ระดมสุดยอดซีอีโอ-เจ้าสัว

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ จัดภายใต้หัวข้อร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน งานเริ่มอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 เป็นการหารือระหว่างนักธุรกิจประมาณ 30 คณะ หมุนเวียนพบปะกัน จากนั้นในวันที่ 25 มิถุนายน ช่วงเช้าเป็นพิธีเปิด โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี กดปุ่มเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษเปิดการประชุม และปาฐกถาพิเศษ โดยนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์

โดยช่วงบ่ายเป็นประชุมกลุ่มย่อย 4 หัวข้อ ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย 2.โอกาสพัฒนาจาก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” 3.แนวคิดและภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน และ 4.การสืบสานและพันธกิจของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ จะมีผู้บริหารระดับสูงในไทยและนักธุรกิจจีน ขึ้นบรรยายให้ความรู้ แยกเป็น 4 ห้อง รองรับผู้สนใจห้องละ 250-300 คน

สำหรับหัวข้อ “ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย” จะมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และมีวิทยากรระดับสูง ทั้งนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้าร่วม

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า สำหรับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย-จีน รวมทั้งลูกหลานของสมาชิก อาทิ นายศุภชัย เจียรวนนท์ (ซี.พี.), นายฐาปน สิริวัฒนภักดี (ไทยเบฟ), นายธีรพงศ์ จันศิริ (ไทยยูเนี่ยน) เป็นต้น

ดูงาน TU-CP-เมดพาร์ค

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ในช่วงเย็นวันที่ 25 มิถุนายน จะพากลุ่มนักธุรกิจจีนไปทานอาหารที่เอเชียทีค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมวางแผนจะพาไปเยาวราช แต่เกรงปัญหาในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย จึงเปลี่ยนไปที่เอเชียทีคแทน

ส่วนวันที่ 26 มิถุนายน จัดคณะนักธุรกิจชาวจีนไปดูงานที่จัดเตรียมไว้ 8 แห่ง เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ที่มหาชัย ของนายไกรสร จันศิริ, โรงพยาบาลเมดพาร์ค, กิจการและโรงงานในเครือ ซี.พี. ที่บางนา-ตราด เป็นต้น ตอนเย็นเป็นงานเลี้ยงและมอบธงการเป็นเจ้าภาพ WCEC ประชุมครั้งถัดไป ครั้งที่ 17 ให้กับประเทศมาเลเซีย ที่กำหนดจัดปี 2567 และมีนักธุรกิจอีกกลุ่มราว 200 คน จะไปร่วมเล่นกอล์ฟกระชับมิตรที่สนามกอล์ฟราชพฤกษ์ คลับ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการของเจ้าสัวเจริญ (สิริวัฒนภักดี)

จุรินทร์ดันการค้าไทย-จีน

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมนักธุรกิจจีนโลกครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของการที่จะดึงการลงทุนจากจีนมาประเทศไทย ซึ่งก็ได้เชิญทั้งบีโอไอ อีอีซี มาร่วมประชุม เพื่อที่ฉายภาพให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมสำหรับการรับคลื่นนักลงทุนจีน แม้ว่าช่วงนี้จะเสียจังหวะไปนิดหนึ่งจากที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ แต่นักลงทุนจีนก็ไม่ค่อยกังวลกับการเมืองไทยเพราะผ่านมาหลายรอบแล้ว เพียงแต่ว่า “เสียเวลาและเสียโอกาส”

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะไปเป็นประธานเปิดงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งที่ 16 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการค้าเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยการจัดการประชุมครั้งนี้จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์และโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนมากขึ้น โดยการค้าไทย-จีนในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 66) มีมูลค่า 43,411.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.1% โดยจีนส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 26,979.9 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 12% และจีนนำเข้าจากไทยมูลค่า 16,431.3 ล้านเหรียญ ลดลง 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บีโอไอเร่งเกมดึงนักลงทุนจีน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บีโอไอเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล โดยจะชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรมเหล่านี้

ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรม ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทั้งในและระหว่างประเทศ ซัพพลายเชนที่ครบวงจร บุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนจีน

รวมถึงการสนับสนุนบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุน ให้สามารถจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่มีคุณภาพจากผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยจัดกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างชาติกับบริษัทไทยที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วย

นอกเหนือจากการตั้งฐานการผลิต บีโอไอยังจะเชิญชวนให้บริษัทชั้นนำของจีน พิจารณามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ในประเทศไทย เหมือนกรณีบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ที่ใช้ไทยเป็นฐานหลักในการกำกับดูแล และให้บริการบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค CLMV ฮ่องกง ไต้หวัน และเอเชียใต้ โดยมีมาตรการส่งเสริมทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกจากบีโอไอและกรมสรรพากร

สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีน ไตรมาส 1/2566 เงินลงทุน 25,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% มีจำนวน 38 โครงการ ซึ่งหากย้อนไปปี 2565 จีนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด ขึ้นแซงญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 77,381 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด

ไทยคว้าโอกาสจีนย้ายฐาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสงครามการค้าสหรัฐและจีน เป็นแรงหนุนให้นักลงทุนจีนขยายการลงทุนมาในไทยมากขึ้น และจากปัญหาสงครามการค้าก็ทำให้จีนเองต้องย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศ การที่นักธุรกิจชั้นนำของจีนทั่วโลกมาประชุมทำให้เห็นศักยภาพและนโยบายของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถเชิญชวนนักลงทุนจีนที่จะย้ายฐานธุรกิจเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยได้

และล่าสุด ส.อ.ท.ได้ตั้งสถาบัน Thailand-China Economic & Investment Institution (TCEII) เพื่อเป็นสถาบันสนับสนุนความร่วมมือการลงทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักลงทุนจากจีนขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยต่อไปสถาบันนี้จะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในฐานะศูนย์กลางการติดต่อที่ชัดเจนและรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน

ดึงอุตฯเป้าหมาย อีวี-5G-กรีน

“ปัจจุบันนักลงทุนจีนมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมาก็เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น โดยหวังให้จีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม new S-curve ที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้นที่จีนเป็นผู้นำ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างที่กลุ่ม BYD เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ก็หวังว่าจะมียี่ห้ออื่น ๆ ตามมา เพราะประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวี จากจุดแข็งเดิมไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน และห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์สันดาปอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เช่น ดิจิทัล 5G อุตสาหกรรมด้านเกษตรที่เพิ่มมูลค่า และมองถึงอุตสาหกรรมอนาคตที่เกี่ยวกับความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พลังงานสะอาด ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ พลังงานสีเขียว และ BCG ด้วย

บาลานซ์สัมพันธ์ จีน-ไทย-สหรัฐ

นายเกรียงไกรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งจีนและอเมริกาต่างเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญกับไทย อเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ส่วนจีนก็อันดับ 2 ไทยจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ

“อย่างที่บอกว่าความเข้มข้นของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี โลกก็เปลี่ยนไป แต่ไทยต้องพึ่งพาทั้ง 2 ประเทศ ก็ต้องวางตัวเหมาะสมที่จะสามารถค้าขาย หรือรักษาความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย เพราะทั้งสองประเทศต่างมีจุดแข็งในเรื่องการลงทุนและเทคโนโลยี รวมถึงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ดังนั้นแม้สถานการณ์จะบีบให้ต้องเลือกข้าง แต่เราต้องใช้นโยบายทางการทูตและการค้าที่ชาญฉลาด เพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย”

ดันเศรษฐกิจไทยพุ่ง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งนี้ส่งผลให้เกิดโอกาสในการขยายตลาดสินค้า เพิ่มขึ้นจากเดิม 35,000 ล้านเหรียญ เป็น 40,000 ล้านเหรียญ ทำให้เพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปจีน จาก 12% เป็น 13% ภายในเวลา 5 ปี เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มจาก 10 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนตรง (FDI) นักลงทุนจีนจะครองอันดับ 1 ในไทยไปอีก 1 ทศวรรษ สามารถเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากปีละราว 80,000 ล้านบาท เป็นมากกว่า 1 แสนล้านบาทได้ในอนาคต โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสร่วมลงทุนในประเทศไทย คือ อุตสาหกรรมยางพารา พลังงานทางเลือก และโลจิสติกส์ ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยจากประเทศจีนจะมีมากขึ้น

“ไทยต้องเตรียมพร้อมในการดึงดูดการลงทุนจากจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันจากสถานการณ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้การสานความสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสในการดึงการดูดการลงทุนจากฝั่งสหรัฐด้วย โดยคาดว่าจะเห็นกิจกรรมของสหรัฐ ในอินโดแปซิฟิก ในอาเซียน และไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและอื่น ๆ เพิ่มแน่นอน ภายใต้กรอบความร่วมมือ IPEF ที่เน้นเรื่องห่วงโซ่การผลิต โลจิสติกส์ พลังงานทางเลือก เพื่อลดทอนบทบาทจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งประโยชน์จะตกกับไทย แต่ต้องบริหารความสมดุลให้ดี”

ทั้งนี้ ในปี 2565 “จีน” เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้า 3.69 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.53% และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของการมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย

ท่องเที่ยวรับอานิสงส์

ทั้งนี้ ทางสภาหอการค้าไทย-จีน มีข้อมูลแนะนำโรงแรมที่พัก ให้กับผู้ลงทะเบียนเลือกใช้บริการ ประกอบด้วย โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ, โมเดน่า บาย เฟรเซอร์ กรุงเทพฯ, โรงแรมมายเทรียณ์ พระราม 9, โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ, โรงแรมคอลัมน์ แบงค็อก, โรงแรม แชงกรี-ล่า กรุงเทพ และแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานประชุมดังกล่าวเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจโรงแรมโดยตรง โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาทิ บริเวณถนนสุขุมวิท ย่านราชประสงค์ และริมแม่น้ำเจ้าพระยา

“แม้ว่าจะไม่ใหญ่เท่าการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เมื่อช่วงปลายปี 2565 แต่เชื่อว่าวันนี้โรงแรมส่วนใหญ่สามารถขายห้องพักได้ในราคาที่ดีกว่า เนื่องจากปัจจุบันมีดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นสอดรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว”

นางมาริสากล่าวด้วยว่า กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นผลดีในแง่การกระตุ้นการลงทุนของกลุ่มนักธุรกิจจีนแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เกิดกระแสและสร้างการรับรู้ว่าประเทศไทยพร้อมต้อนรับคนจีน ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจจีนอยากเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนอยากเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก หรือ WCEC ก่อตั้งขึ้นโดย หอการค้าและอุตสาหกรรมจีนสิงคโปร์ หอการค้าจีนฮ่องกง และหอการค้าไทย-จีน และจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1991 และจัดประชุมทุก ๆ 2 ปี การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 15 เป็นครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 2019 แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้การจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกเว้นห่างเป็นเวลาถึง 4 ปี กระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

อ่านข่าวต้นฉบับ: ทัพธุรกิจจีนทั่วโลกรวมตัว ปลุกลงทุนไทยครั้งใหญ่รอบ 10 ปี



ที่มา : Prachachat/economy
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ทัพธุรกิจจีนทั่วโลกรวมตัว ปลุกลงทุนไทยครั้งใหญ่รอบ 10 ปี

หวานเจี๊ยบ "อเล็กซ์ " ลงภาพคู่แฟนสาว "เจนนี่" ความรักฟินเต็มเฟรมเลย
ซอฟต์เพาเวอร์ไทย จุดพลุ “ไอติมลายกระเบื้องวัดอรุณ” สุดปัง

Home