All News · July 7, 2023

ดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานพุ่ง หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานพุ่ง หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อลง ส่วนปัจจัยในประเทศเงินบาทยังคงอ่อนค่า หลังกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (3/7) ที่ระดับ 35.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 35.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงภายหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงในเดือนพฤษภาคม และผู้บริโภคมีการลดการใช้จ่ายลงขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อสำคัญสำหรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 3.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 4.3% ในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ลดลงจากระดับ 0.4% ในเดือนก่อนหน้า

นักลงทุนคลายความกังวลเงินเฟ้อสหรัฐ

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6% ลดลงจากระดับ 4.7% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.7% นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมิชิแกนมีการเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 64.4 จากระดับ 59.2 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.9

ทั้งนี้การเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อลงไป อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้เริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเปิดเผยรายงานการประชุมครั้งล่าสุด ซึ่งระบุว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ หลังจากที่เฟดตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน

ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนต่อเนื่องในวันพฤหัสบดี (6/7) จากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็น 1 ในปัจจัยที่หนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 497,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 267,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ก่อนปิดสัปดาห์คาดว่านักลงทุนจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานประจำเดือนมิถุนายนที่จะประกาศออกมาในวันนี้เช่นกัน

เงินบาทอ่อนค่าช่วงกลางสัปดาห์

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทได้รับแรงหนุนในช่วงต้นสัปดาห์จากทิศทางทางการเมืองที่เริ่มส่อเค้าดี ภายหลังจากที่ในวันอังคาร (4/7) ทางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายปดิพัทธ์ สันติธาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ส่วนนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯคนที่ 2

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้เริ่มอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ไทยได้ออกมาเปิดเผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 0.23% โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 64 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารลดลง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับฐานในเดือนมิถุนายน 65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 66) เพิ่มขึ้น 2.49%

นอกจากนั้นแล้วค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมภาคบริการในประเทศจีน ซึ่งขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 5 เดือนในเดือนมิถุนายน ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างซบเซา และทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดเอเชีย รวมถึงการที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะกัลเลียมและเจอร์มาเนียม รวมทั้งสารประกอบทางเคมีของโลหะทั้ง 2 ชนิด ที่ใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, สื่อสารโทรคมนาคม และรถยนต์ไฟฟ้า

โดยการประกาศมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่สงครามการค้าด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐและยุโรปกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 35.20/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้า นักลงทุนน่าจะให้ความสนใจกับการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงวันที่ 13-15 กรกฎาคมนี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (3/7) ที่ระดับ 1.0906/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 1.0914/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในช่วงวันศุกร์ (30/6) มีเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายน ที่ระดับ 5.5% เมื่อเทียบรายปี ลดลงต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหาร ยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยขึ้นสู่ระดับ 5.4%

ภาคการผลิตของยูโรโซนหดตัว

นอกจากนั้นแล้วค่าเงินยูโรยังได้รับปัจจัยกดดันจากการเปิดเผยกิจกรรมภาคการผลิตของยูโรโซนที่หดตัวในอัตราที่เร็วกว่าคาดในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ส่งผลกระทบด้านการเงิน และบ่งชี้ถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา โดยในรายงานระบุว่า กิจกรรมภาคการผลิตของ 4 ประเทศที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ที่สุดในยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ได้หดตัวในเดือนมิถุนายน

โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 43.4 ในเดือนมิถุนายนจากระดับ 44.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่ำกว่าระดับที่คาดไว้เบื้องต้นที่ 43.6 โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายในยูโรโซนในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 52.00 ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 52.40 และต่ำกว่าในเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 55.10 ทั้งนี้คาดว่านักลงทุนจะติดตามถ้อยแถลงจากนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566

โดยระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0832-1.0933 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 1.0883/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (3/7) ที่ระดับ 144.28/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/6) ที่ระดับ 144.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ในภาพรวมค่าเงินยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเดิมที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งตรงกันข้ามกับธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ

แม้ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นหลายราย รวมทั้งนายมาซาโดะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นและนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต่างแสดงความกังวลต่อการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินเยน หลังจากที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 144 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการอ่อนค่าต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือ

น โดยนักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาด หากค่าเงินยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจนแตะระดับ 145 เยน/ดอลลาร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพไว้ ขณะที่ในช่วงกลางสัปดาห์ Jibun Bank ได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการประจำเดือนของญี่ปุ่นลดลงจากระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 55.9 ในเดือนพฤษภาคม สู่ระดับ 54 ในเดือนมิถุนายนแต่ยังอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังอยู่ในภาวะขยายตัว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.12-144.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 143.15/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานพุ่ง หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานพุ่ง หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย

อาทิตย์ SCBX ยันปล่อยกู้ STARK กระทบจำกัด ชี้ดำเนินการตามเจ้าหนี้รายอื่น
ททท.เผยครึ่งปีแรกต่างชาติเข้าไทยเฉียด 13 ล้านคน จีนยังแผ่ว

Home