All News · July 25, 2023

ESG คือดีเอ็นเอบางจากฯ “ชัยวัฒน์” กางแผน BCP 316 net เดินหน้าสู่อนาคต

ชัยวัฒน์ ชู ESG คือดีเอ็นเอบางจากฯ 33 ปี The Great Remake สู่โอกาสใหม่ เดินหน้าสู่อนาคต กางแผน BCP 316 net ลุยตั้งโรงงานน้ำมันไบโอเจ็ต “SAF” ช่วยลดคาร์บอน 8 ล้านตันต่อปี

วันที่ 25 กรกฏาคม 2566 นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยระหว่างงานสัมมนา ESG : Game Changer ในหัวข้อ The Great Remake สู่โอกาสใหม่ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าดีเอ็นเอของบางจากฯ คือเรามองว่า ESG เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบางจากฯ

นับตั้งแต่เริ่มต้นบางจากฯ ได้มีโครงการข้าวแลกน้ำมันในปี 2533 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยการรับซื้อข้าวจากชาวนาพร้อมขายน้ำมันให้แก่สหกรณ์จนเกิดเป็นสถานีบริการน้ำมันสหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันก็ร่วม 38-39 ปีแล้วที่บางจากฯ ดำเนินโครงการนี้จนขยายไปมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

“ผมจึงเชื่อว่า ESG จะอยู่และยั่งยืนได้ไม่ใช่เกิดจากส่วนเกินที่เขาบริจาค หากแต่ผสมผสานเข้าไปในธุรกิจและสุดท้ายสร้างผลตอบแทนให้ได้นั่นถึงจะยั่งยืนต่อไปได้”

ต่อมาในปี 2558 บางจากฯ ก็ได้มีการต่อยอดในหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเหมืองลิเทียมซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้นน้ำ และการต่อยอดธุรกิจร้านเครื่องดื่มอย่างอินทนิล คอฟฟี่ในการเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกมาใช้แก้วที่สามารถย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ (biodegradable cup) ในปี 2559 พร้อมยกระดับเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันให้มีเอกลักษณ์ ปั้มน้ำมัน เบอร์ 5 เหมือนกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 บนเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2560

และในปัจจุบันได้ลงทุนในเรื่อง Synbio ชีวนวัตกรรมที่สามารถผลิตโปรตีนได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาปศุสัตว์ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนและมุ่งสู่จุดหมาย Net Zero Emissions

SAF ทางเลือกใหม่

ล่าสุด บริษัทบางจากฯ ยังได้ลงทุนในธุรกิจท่อขนส่งน้ำมัน และธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ขึ้นภายในโรงกลั่นบางจากด้วยงบประมาณลงทุน 10,000 ล้านบาทคาดว่าจะเสร็จภายใน 2 ปี

โดยมีกำลังการผลิตขนาด 1 ล้านลิตรต่อวัน จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วในครัวเรือน โดยในอนาคตหากโรงงานนี้แล้วเสร็จสามารถรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว 1 ล้านลิตรต่อวัน ราคาลิตรละ 20 บาท หรืออาจจะสูงมากกว่าราคาน้ำมันพืชปกติ

ซึ่งจะตอบโจทย์การบินในประเทศไทยที่มีปริมาณการใช้น้ำมันอยู่วันละ 50 ล้านลิตร ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของการบินระหว่างประเทศได้กำหนดต้องผสม SAF สัดส่วน 2% หากสำเร็จจะช่วยลดการปล่อยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 8 หมื่นตันต่อปี

นายชัยวัฒน์ เผยว่าสาเหตุที่บางจากพัฒนาน้ำมัน SAF จากที่โลกเรามีปริมาณการบริโภคน้ำมันอยู่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการบริโภคที่ 1 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 1% จากปริมาณการบริโภคทั้งโลก

โดยคาดว่าในปีนี้จะมีปริมาณการบริโภคทั่วทั้งโลกจะปรับตัวขึ้นมาที่ 102 ล้านบาร์เรลต่อวันหลังการระบาดของโควิด-19 คลายตัว รวมถึงกลุ่มธุรกิจน้ำมันคาดการณ์สถานการณ์ของน้ำมันโลกในหลายซีนาริโอ ทำให้มีความไม่แน่นอน จนต้องตั้งคำถามแล้วว่าหากเราจะลงทุนครั้งใหญ่ ควรจะลงทุนในธุรกิจใด

“คิดว่าดีที่สุดเราควรเจาะในภาพเล็ก อย่างการขนส่งทางบกมีปริมาณการใช้เพิ่มสูงสุด (peak) อย่างแน่นอน โดยขึ้นกับภูมิภาค อย่างในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านไปเมื่อปี 2019 และประเทศไทยก็คาดการณ์ที่จะเกิดการใช้สูงสุดในปี 2040”

แต่ถ้าไปเจาะที่การขนส่งทางอากาศจะพบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และอีกอุตสาหกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างที่มีแนวโน้มจะเติบโตนั่นคือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งทุกคนที่ทำธุรกิจโรงกลั่นหั่นไปทำปิโตรเคมี ทำให้คิดว่าเรามีทางเลือกอื่น เราจึงไปอีกทางหนึ่งดีกว่านั่นคือ SAF

เพราะเครื่องบินนั้นไม่สามารถใช้แบตเตอร์รี่ไม่ได้ จากการทดลองในเครื่องบิน 787 ที่ใช้น้ำมันผสมกับแบตเตอร์รี่เมื่อขึ้นแล้วบินแล้วกลับติดไฟ จนเป็นที่มาในปัจจุบันว่า ก่อนขึ้นเครื่องจะถูกถามว่ามีพาวเวอร์แบงก์หรือไม่

ขณะที่อุตสาหกรรมการบินในปี 2070 คาดว่าจะมีการปล่อยมลพิษเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า จึงต้องหาสิ่งที่จะช่วยลดการปล่อยมลพิษได้มากที่สุด นั่นคือ ต้องหาสิ่งทดแทนน้ำมันเครื่องบิน

หลายคนให้คำตอบว่า เป็นไฮโดรเจนแต่ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นยังไม่เสถียร ประกอบกับต้นทุนมีราคาแพง ทำให้เทคโนโลยีไฮโดรเจนยังต้องพัฒนาต่อ

“ดังนั้นคำตอบที่แท้จริงคือ ไบโอแมส ซึ่งใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงกับไบโอดีเซลที่บางจากซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วมาขายคืน จึงเกิดโครงการทอดไม่ทิ้ง”

รวมถึงตั้งเป้าว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะพัฒนาระบบบล็อกเชนที่ชื่อว่า book and clam เพื่อใช้ยืนยันว่าเที่ยวบินที่โดยสารมานั้นเป็นการบินแบบ carbon neutrality

Roadmap สู่ Net Zero

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า บางจากฯ มีหลักสำคัญในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ Net zero นั่นคือ BCP316 net

โดย B ย่อมาจาก Breakthrough Performance ด้วยการลดการปล่อย carbon footprint ในเครื่องจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลง 30% ภายใน 5-7 ปีข้างหน้า

ต่อมา C ย่อมากจาก Conserving Nature and Society ซึ่งบางจากฯ ก็มีโครงการ อาทิ การปลูกป่าหรือปลูกไม้โกงกางที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 10%

และสุดท้ายคือ P ย่อมาจาก Proactive Business Growth and Transition ซึ่งเป็นการลงทุนแห่งอนาคต อาทิ SAF และในอนาคตวางแผนว่าจะลงทุนในเรื่องไฮโดรเจน และการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (CCS)

โดย Net ย่อมาจาก Net Zero Ecosystem ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ อาทิ Winnonie แพลตฟอร์มเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ 24 ชม.

ทางเลือกพลังงานในอนาคต

นายชัยวัฒน์ เสนอว่าในวงการพลังงานมี 3 สิ่งที่ต้องรักษาสมดุล ได้แก่ ความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

โดยจีนถือว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านพลังงานสูง เพราะพร้อมทุ่มเงินลงทุนเพื่อเข้าถึงพลังงาน

ส่วนสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่ราคาก๊าซธรรมชาติถูกที่สุดในโลก และยุโรปที่ถือว่าเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับทิศทางใด

อนาคตของบางจากฯ

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจประมาณ 30% ของบางจากฯ เป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว แต่อีก 70% ที่เหลือยังต้องปรับปรุง

นอกจากนี้ยังได้ประกาศความตั้งใจว่า สิ้นสุดทศวรรษนี้หรือภายในปี 2573 จะปรับพอร์ตธุรกิจให้เป็นสีเขียว 50% และสีเทา 50% ด้วยการสร้างระบบนิเวศผ่านการลงทุนในด้านต่าง ๆ อาทิ การใช้พลังงานหมุนเวียน SAF โครงการ Winnonie เป็นต้น

“การลงทุนให้โลกน่าอยู่และสังคมดีขึ้นไม่จำเป็นต้องเจียดเงินลงไป แต่ต้องหาธุรกิจที่ตอบโจทย์และสร้างผลตอบแทนในระยะยาวถึงจะเป็น ESG ที่ยั่งยืน creating a sustainable world with evolving Greenovation” นายชัยวัฒน์กล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับ: ESG คือดีเอ็นเอบางจากฯ “ชัยวัฒน์” กางแผน BCP 316 net เดินหน้าสู่อนาคต



ที่มา : Prachachat/economy
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ESG คือดีเอ็นเอบางจากฯ “ชัยวัฒน์” กางแผน BCP 316 net เดินหน้าสู่อนาคต

SCB CIO คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามเป้าหมาย
"ชมพู่-น็อต" ควงคู่ออกกำลังกาย แด๊ดดี้อบอุ่นเป็นเทรนเนอร์สอนลูกชาย

Home