All News · August 8, 2023

เปิดข้อกฎหมายภาษีสรรพากร “แสนสิริ” ซื้อที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ 12 คน 12 วัน

เปิดข้อกฎหมายคำสั่งสรรพากร ที่ ป.100/2543 เรื่องการคิดคำนวนภาษีขายอสังหาริมทรัพย์ กรณี “แสนสิริ” ซื้อที่ดินและรับโอนจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม 12 คน 12 วัน เสียภาษีอย่างไร

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมือง ร้องเรียนกรมสรรพากรตรวจสอบพฤติกรรมของ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กรณีซื้อขายที่ดิน 1 ไร่ 1 ตาราวาง ติดถนนสารสิน จากบริษัทประไพทรัพย์ แต่เปลี่ยนวิธีการโอนที่ดินเป็นการโอนแยกตามจำนวนผู้ถือหุ้น 12 คน 12 วัน ซึ่งกรณีนี้นายชูวิทย์ตั้งข้อสังเกตว่าเข้าข่ายการหลีกเลี่ยงภาษี 500 กว่าล้านบาทที่รัฐควรจะได้หรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามกรณีดังกล่าวต่อผู้เชี่ยวชาญกฎหมายภาษี ชี้แจงว่ากรณีนี้ถือเป็นการวางแผนภาษีของผู้ขายที่ดิน โดยให้อ้างอิงข้อกฎหมายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.100/2543 เรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ กรณีการขาย การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทาง ปฏิบัติในการตรวจและแนะนำสำหรับ การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ กรณีการขาย การโอนกรรมสิทธิ์หรือ สิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์

โดยประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องในกรณีการซื้อขายที่ดินของแสนสิริ คือ ข้อ 4 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ดังนี้
ข้อ 4 การขายอสังหาริมทรัพย์ กรณีที่มีการถือ “กรรมสิทธ์รวม” ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ตามข้อ 3) มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนี้

(1) กรณีการถือกรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับมรดก การให้โดยเสน่หา การครอบครองปรปักษ์ หรือจากการที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้บุคคลอื่นเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในภายหลัง ให้บุคคลแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์ รวมเสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดา โดยแยกเงินได้ตามส่วนของแต่ละ คนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม

(2) กรณีการถือกรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้น เนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขาย ขายฝาก หรือแลกเปลี่ยน โดยเข้าถือกรรมสิทธ์รวมพร้อมกัน ให้เสียภาษีเงินได้ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล แต่หากไม่ได้มีการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน ให้บุคคลแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์รวมเสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดา โดยแยกเงินได้ตามส่วนของแต่ละคนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม

ข้อ 5 การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ให้คำนวณ จากราคาขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดขึ้น ในกรณีโอนกรรมสิทธิ์หรือ สิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดย มีหรือไม่มีค่าตอบแทน ไม่ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม โดยถือตามราคาประเมิน ทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจด ทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

แหล่งข่าวอธิบายว่า คำสั่งของกรมสรรพากรในข้อ 4 (2) ระบุไว้ชัดเจนว่า “หากไม่ได้มีการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน ให้บุคคลแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์ รวมเสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดา” ซึ่งในกรณีนี้ผู้ขายที่ดินให้กับแสนสิริมีการถือครองกรรมสิทธิ์รวมจำนวน12 คน ซึ่งในการได้มาไม่ได้มีการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน เนื่องจากทางบริษัทประไพทรัพย์ ได้ยกเลิกบริษัทและได้แบ่งทรัพย์สินคือที่ดินให้กับผู้ถือหุ้น 12 คน

โดยเป็นการรับโอนกรรมสิทธิ์กันคนละวันตั้งแต่ต้น ดังนั้นในกรณีที่บุคคลทั้ง 12 คนได้ขายที่ดินให้กับบริษัทแสนสิริ (แม้ว่าแสนสิริจะรับโอนในวันเดียวกัน) ทางผู้ขายก็จะเสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดา เพราะในกรณีนี้ทางสรรพากรจะพิจารณาจากต้นทางในการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ กรณีนี้ถือว่าเป็นการวางแผนภาษีของผู้ขายที่ดิน ไม่ใช่การหนีภาษี เพราถือว่าดำเนนการถูกต้องตามกฎหมาย

อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดข้อกฎหมายภาษีสรรพากร “แสนสิริ” ซื้อที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ 12 คน 12 วัน



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…เปิดข้อกฎหมายภาษีสรรพากร “แสนสิริ” ซื้อที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ 12 คน 12 วัน

ก.ล.ต. ร่วมกับ ADB และ สบน.ให้ความรู้หน่วยงานรัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน
THREL ไตรมาส 2 พลิกมีกำไร ประกันสุขภาพขยายตัว ตั้งเป้าเบี้ยโต 5%

Home