All News · August 14, 2023

ปมร้อนสหรัฐถูกหั่นเครดิต เช็กชีพจรเศรษฐกิจ-จับสัญญาณหุ้นโลก

ปมร้อนสหรัฐถูกหั่นเครดิต เช็กชีพจรเศรษฐกิจ-จับสัญญาณหุ้นโลก กับ “กวี ชูกิจเกษม” Head of Research and Content  บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพของเศรษฐกิจสหรัฐตอนนี้เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังจับตามอง ถึงภาวะการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างหนาหูตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงล่าสุด Fitch Ratings ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐ และ Moody’s Ratings ได้ปรับเครดิตของธนาคารทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ของประเทศสหรัฐลง

อย่างไรก็ดีทาง J.P. Morgan ได้ออกมาชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่เสี่ยงถดถอยแล้วในปีนี้ 2566 กลายเป็นคำถามที่ตามมาว่าประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐตอนนี้เป็นอย่างไร เศรษฐกิจไม่เสี่ยงถดถอยแล้วจริงหรือไม่

“ประชาชาติเวลท์ เล่าเรื่องการลงทุน” สัปดาห์นี้คุยกับนายกวี ชูกิจเกษม  Head of Research and Content  บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)  ในหัวข้อ “ปมร้อนสหรัฐถูกหั่นเครดิต เช็กชีพจรเศรษฐกิจ-จับสัญญาณหุ้นโลก”

Q : ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงว่าสิ้นปีนี้หรือปลายปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐจะมีความเสี่ยงที่จะถดถอย แต่ล่าสุดอย่าง J.P. Morgan ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะถดถอยลดน้อยลงแล้วมองประเด็นนี้ยังไงบ้าง

ผมว่าด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างผสมผสานกันมีทั้งดีและก็ไม่ดี แต่ผมเชื่อว่าหลาย ๆ โบรกเกอร์หรือหลาย ๆ เฮาส์ที่ออกมาพูดถึงก็คงจะดูที่เรื่องของการจ้างงาน เพราะตอนนี้ตัวอัตราการว่างงานในประเทศสหรัฐ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำแต่สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างระมัดระวังกับสิ่งที่ตัวโบรกเกอร์ใหญ่ ๆ เขาออกมาพูดและให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐ อาจจะไม่หดตัว  เพราะว่ายังมีอีกหลายโบรกเกอร์นะที่ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐ มีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวอยู่ ดังนั้นมันก็ยังวางใจไม่ได้

ในขณะที่ถ้าเราไปดูความน่าจะเป็นที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐ ซึ่งธนาคารกลางของสหรัฐ เขาเป็นคนทำตัวเลขนี้ขึ้นมา เขาก็จะไปจับตัวผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลบด้วยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ อายุ 3 เดือน  แล้วก็เอามาเปลี่ยนตัวเลขนี้ให้เป็นความน่าจะเป็นว่าตลาดตราสารหนี้นักลงทุนรายใหญ่ ๆ เขามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีโอกาสเข้าสู่วิกฤตกี่เปอร์เซ็นโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง

ปรากฏว่าวันนี้ตัวสัญญาณ (Signal) นี้ ตัวเลขนี้มันบ่งบอกว่าความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวประมาณ 67% ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ตัวนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปร ในขณะที่ถ้าเอาชัดเจนที่สุดเราก็ยังหนีไม่พ้นว่ามันมี 2 สถาบันจัดอันดับเครดิตขนาดใหญ่แล้วนะคือ Fitch Ratings และ Moody’s Ratings ซึ่ง Fitch Ratings นี้หนักเลยปรับเครดิตของประเทศสหรัฐลง และ Moody’s Ratings ปรับเครดิตของธนาคารทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ของประเทศสหรัฐลง

โดยทั้ง 2 ที่ให้เหตุผลคล้าย ๆ กันว่าเขายังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ที่อาจเข้าสู่ภาวะหดตัว ซึ่งถ้าถามว่าผมจะเชื่อใครระหว่าง J.P. Morgan กับ Fitch Ratings กับ Moody’s Ratings ผมคิดว่า Fitch Ratings กับ Moody’s Ratings ดูน่าจะมีความน่าฟังมากกว่า ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิต ข้อมูลที่เขามีหรือการจะปรับอันดับเครดิตลงคงต้องคิดไตร่ตรองมาก ไม่เหมือนนักวิเคราะห์ถูกไหม อยากจะเปลี่ยนว่าหุ้นขึ้นก็บอกหุ้นขึ้น อยากจะเปลี่ยนหุ้นลงก็บอกหุ้นลง คือเขาเปลี่ยนได้ต่อเนื่องและเขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วมีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลง

แต่สถาบันจัดอันดับเครดิตใหญ่ ๆ อย่างนี้เวลาเปลี่ยนเขาต้องมั่นใจจริง ๆ ดังนั้นผมก็ยังมองว่าอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำของประเทศสหรัฐ เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมายังมาสามารถที่จะรับประกันได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัว ผมยังคิดว่าสหรัฐ ยังมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวอยู่ ซึ่งผมก็ไม่ได้เชื่อในส่วนของ J.P. Morgan ไปทั้งหมด

Q : การที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยเรามองว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้หรือว่าจะไปเกิดในปีหน้า 2567 แล้วถ้าเกิดขึ้นอาจจะเป็น Soft Landing หรือมองอย่างไร

เรื่องของ Soft Landing กับ Hard Landing ยังพูดได้ไม่เต็มปาก แต่คำว่า Landing มันคงมี ถ้าจริง ๆ โดยธรรมชาติมันควรจะเกิดเศรษฐกิจหดตัวในช่วงประมาณสักครึ่งปีหลังปีนี้ ก็คือประมาณไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ซึ่งหลายคนก็มองว่ามันน่าจะเป็นแค่ Soft Landing เท่านั้นเอง แต่ว่าถ้าเราไปตามดูของ Moody’s Ratings ก็เหมือนจะเลื่อนวิกฤตเศรษฐกิจออกไปคิดว่าจะเกิดขึ้นสักประมาณไตรมาสที่ 1 ปีหน้า

ดังนั้นตัวเลขหรือว่าเวลาในการที่จะเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหรือ GDP ติดลบมันอาจจะไม่ได้เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงก็ได้นะครับ แต่ว่า GDP ติดลบความเสี่ยงของการลงทุนก็เพิ่มมากขึ้น มันอาจจะเกิดขึ้นประมาณสักช่วงไตรมาส 4 จนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า

อยากแชร์ตรงนี้นิดหนึ่งก่อนว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะหดตัวที่มันน่าจะเกิดขึ้นในอีกประมาณสัก 6 เดือนโดยประมาณนะครับบวกลบ หลัก ๆ อย่างจะให้ดูประเทศจีนนิดหนึ่ง จีนกับสหรัฐ เขามีความผูกพันกันในระดับที่เป็นทั้งศัตรูและเป็นมิตรแต่ว่าทั้ง 2 ประเทศเขายังพึ่งพาสินค้านำเข้าและส่งออกอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นช่วงนี้ก็เหมือนว่าทางโน้นเขาอาจจะเริ่มมีคำสั่งซื้อมาทางประเทศจีนน้อยลงก็ได้ก็เลยทำให้จีนรับออร์เดอร์ในการผลิตน้อยลง

ดังนั้นการที่ผลิตน้อยลงมันจะไปกระทบกับการบริโภคที่น้อยลงหรือไม่ในประเทศสหรัฐ อันนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องตาม ดังนั้นที่บอกว่าจีนมันก็ชะลอตัวมาพักหนึ่งแล้วเขาก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาพักหนึ่งแล้วเหมือนกัน ดังนั้นเทรนด์นี้ผมว่าหนีไม่พ้นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะต้องชะลอตัวลง มันเหมือนกับเป็นวัฏจักรเดียวกันเพียงแต่ว่ามันเป็นลักษณะของการขับรถตามกันมา

ก็ถ้ามองโลกในแง่บวกก็คือถ้ามันจะมีวิกฤตก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน แต่คำถามที่ต้องตั้งคำถามต่อมาก็คือ สมมุติประเทศสหรัฐ ไม่มีวิกฤตเป็น Soft Landing หรือ No Landing อะไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่ผมก็ตั้งข้อสงสัยว่าแล้วตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นโลกจะขึ้นได้ต่อหรือเปล่า เพระว่าการที่คุณบอกว่าคุณไม่หดตัวแล้วดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ก็ต้องตั้งคำถามว่าแล้วเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้อย่างไรด้วยฐานที่มันสูงขนาดนี้ และด้วยปริมาณหนี้ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่สูงขนาดนี้มันยากนะที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่คุณบอกว่าตอนนี้อยู่ 3.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของเขาอยู่แล้ว การที่จะให้เศรษฐกิจโตด้วยการที่จะไปลดอัตราการว่างงานลงมาอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคมันก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่เกิด Landing เลยมันก็จะไม่มีการ Take-Off ถ้าไม่ถดถอย (Recession) ผมก็ยังเชื่อว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Stagflation) อยู่ดี

ซึ่ง Stagflation จะเป็นลักษณะของที่เศรษฐกิจไม่ได้เข้าสู่ภาวะหดตัว แต่จะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าและเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง มันก็ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจช้า 1-2% แต่เงินเฟ้ออยู่ 3% ตรงนี้เขาเรียก Stagflation ก็คือเงินเฟ้อสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ดีกับตลาดหุ้นอยู่ดี

Q : สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐ ช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงปลายปีหรือต้นปีหน้า เราแนะนำการลงทุนอย่างไร

อย่างที่เราคุยกันไปเรื่องเศรษฐกิจนะครับ และตลาดหุ้นสหรัฐ ก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง ดังนั้นการที่จะเข้าไปลงทุนในตลาด S&P500 หรือ NASDAQ หรือว่าหุ้นสหรัฐ ในช่วงนี้ผมยังไม่แนะนำ ผมอยากจะรอให้มีการปรับฐานลงมาก่อน ซึ่งมันก็จะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และถ้ามันเกิดขึ้นจริงอย่างที่เราคาดแล้วค่อยกลับไปซื้อ แต่ถ้าไม่เกิดแล้วเราจะตกรถไหมผมก็ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะอัพไซด์ของตลาดหุ้นสหรัฐ จากวันนี้ก็ไม่เยอะ เพียงแต่ว่าเพราะเราเห็นเรื่องของราคาหุ้น (Valuation) ไปแล้ว

ดังนั้นมันก็แค่รอเวลาว่าถ้าไม่เกิดใน 6 เดือนข้างหน้าแล้วเศรษฐกิจสหรัฐ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แล้วมันจะเกิดวิกฤตขึ้นไหมในอีก 12 เดือนข้างหน้าซึ่งเราไม่รู้จริง ๆ ตรงนี้มันก็จะเป็นความเสี่ยงผมก็เลยจะยังค่อนข้างระมัดระวังต่อการลงทุนในหุ้นสหรัฐ อยู่รอให้ปรับฐานก่อนดีกว่าครับ แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นไปตามเวลาที่เรากำหนดแต่ด้วยราคาหุ้น (Valuation) ที่แพงเราอยากให้รอมากกว่า

อ่านข่าวต้นฉบับ: ปมร้อนสหรัฐถูกหั่นเครดิต เช็กชีพจรเศรษฐกิจ-จับสัญญาณหุ้นโลก



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ปมร้อนสหรัฐถูกหั่นเครดิต เช็กชีพจรเศรษฐกิจ-จับสัญญาณหุ้นโลก

มันถึงเวลาแล้ว "เนย์มาร์" โบกมือลา "PSG" ซบทีมใหม่ เปิดค่าตัว-ค่าเหนื่อย-รายละเอียดสัญญา
“บิ๊กป๊อก” แจง ระเบียบจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มี คกก. กำหนดหลักเกณฑ์

Home