All News · August 29, 2023

3 เทรนด์สุขภาพแห่งอนาคต สังคมสูงวัย สุขภาพจิต และโรคอุบัติใหม่

3 เทรนด์สุขภาพสำคัญแห่งอนาคต สังคมสูงวัย สุขภาพจิต และโรคอุบัติใหม่ โอกาสนักลงทุนด้านสุขภาพของไทยและต่างประเทศ “เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย” ตอบรับเทรนด์ เตรียมจัด “เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023” มหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน วันที่ 13-15 ก.ย. 2566 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และวันที่ 16-22 ก.ย. 2566 ในรูปแบบออนไลน์

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 สังคมสูงวัย สุขภาพจิต และโรคอุบัติใหม่ 3 เทรนด์สุขภาพสำคัญแห่งอนาคต โอกาสนักลงทุนด้านสุขภาพของไทยและต่างประเทศ “เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย” ผนึกกำลังกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เตรียมจัดงาน “เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023” มหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมสนับสนุนประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ ดึงพันธมิตรด้านการแพทย์และสุขภาพจากทั่วโลกตอบรับเทรนด์ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และระหว่างวันที่ 16-22 กันยายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์

“นายเกอร์นอท ริงลิ่ง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เผยว่า เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ เป็นมหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายในงานมีผู้แสดงสินค้ากว่า 800 รายจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มาร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น นวัตกรรมด้านเครื่องมือวินิจฉัย ระบบกำจัดเชื้อ อุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่พร้อมจะขยายธุรกิจและความร่วมมือทางการแพทย์ในตลาดอาเซียน

เทรนด์สุขภาพ

มหกรรมเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต และผู้แทนจากแบรนด์ต่าง ๆ เสริมความแข็งแกร่งให้กับแวดวงอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพในจุดยุทธศาสตร์ของอาเซียน

ภายในงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักคือ 1.สตาร์ตอัพปาร์ก เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดทางธุรกิจ ผลักดันสตาร์ตอัพให้เติบโตควบคู่กับสุขภาพของประชาชน

2.พาวิลเลี่ยนดูแลสุขภาพชุมชน ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องเทรนด์สุขภาพในอนาคต ทั้งระบบอัฉริยะและเครื่องมือในดูแลรักษาโรค เวชศาสตร์ผู้สูงวัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ ฯลฯ

3.พาวิลเลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไฮไลต์พิเศษที่เปิดตัวในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปีนี้ นำเสนอนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวัสดุ ผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง และบริการขั้นสูง จนถึงไมโครโปรเซสเซอร์และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งการเติบโตของวงการการเฮลท์เทคนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการลงทุน และเศรษฐกิจในระดับมหภาค นายเกอร์นอทกล่าว

สุขภาพจิต ดิจิทัล และความสุขในการใช้ชีวิต

“ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์” ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม และสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า พื้นฐานของการดูแลสุขภาพคือความสุข หรือ “สุขภาพจิต” เราต่างอยากมีชีวิตโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสุขภาพ สุขภาพจิตจึงกลายเป็นเทรนด์การแพทย์ในอนาคต บนโลกที่ความรู้ด้านดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญกับบุคลากรการแพทย์ บุคคลทั่วไป และเมดิคัล ดีไวซ์ จะเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมด้านสุขภาพ

ปัจจุบันบริบทของสังคมถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลคอนเทนต์และโซเชียลมีเดีย มีทั้งเฟกนิว การฉ้อโกงต่าง ๆ ผู้ป่วยจิตเวชในไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 โดยเยาวชนอายุ 5-9 ปี มีปัญหาถึง 1 ใน 4 และอายุ 10-19 ปี ก็มีปัญหาถึง 1 ใน 7

ถ้าโจทย์ของเราคือสุขภาพจิต ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องคนคนเดียว แต่เกี่ยวข้องทั้งครอบครัว ชุมชน องค์กร และกฎหมายภาครัฐ ดังนั้น ปัจจัยที่จะสร้างแรงผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตจริง ได้แก่ ความหลากหลายทางสังคม, การใช้ประโยชน์จากเอไอที่จะเข้ามาผูกพันกับมนุษย์มากขึ้น ทั้งในด้านอำนวยความสะดวก หรือการแย่งงานก็ตาม, การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล, ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ, ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม, การเติบโตของเมืองที่ทำให้คนในแต่ละเจเนอเรชั่นต้องปรับตัว และการให้คุณค่ากับสุขภาวะที่ดี

เทรนด์สุขภาพ
ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์

ดร.ชัยธรกล่าวว่า สุขภาวะที่ดีและการมีความสุขกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในชีวิตจริงเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถมีความสุขในโลกดิจิทัลได้อย่างเดียว การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อหรือช่วยในการที่จะลดความตึงเครียดจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญ

แต่ก่อนเชิงนโยบายอาจมองว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องรอง แต่ปัจจุบันและในอนาคตสุขภาพจิตจะกลายเป็นตัวที่สร้างปัญหามากกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ โดยธรรมชาติของสังคมไทยอาจจะมีความอายหรือกังวลไม่อยากนำปัญหาเหล่านี้ไปเปิดเผยให้ใครฟัง ทำให้ไม่ได้มีการสื่อสารหรือรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น นโยบายเชิงรุกที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตจึงถูกพูดถึงค่อนข้างเยอะ

แต่หากมองว่าเป็นโอกาสที่เราสามารถพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรมที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์ได้ ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มสุขภาพจิตในเมืองไทยมากกว่า 10 ราย ทั้งที่เป็นของเอกชนและภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยให้คำปรึกษา หรือป้องกันก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น

ดิจิทัลจึงกลายเป็นโอกาสให้แพลตฟอร์มด้านสุขภาพจิตเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตลาดแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตจาก 3.1 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 7.8 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐในปี 2570 มันเกิดเทรนด์ขึ้นอย่างชัดเจน ดร.ชัยธรกล่าว

ภาวะสุขภาพจิตของสังคมไทยภายในปี 2576

ดร.ชัยธรกล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนที่กล่าวไปจะผลักดันปัญหาสุขภาพจิตของสังคมไทยไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุด เราอาจไปไม่ถึงจุดที่ดีที่สุด แต่ต้องมีภาพนั้นเป็นเป้าหมาย จะทำให้เรามีการต่อยอดและพัฒนาต่อไป

ฉากทัศน์แรกในกรณีที่เราไม่ทำอะไรเลย จะเกิด “การระเบิดของความหวาดกลัว” (terror outburst) ทุกอย่างจะเลวร้ายไปหมด ความหวาดกลัวจะเกิดขึ้นในสังคมและชีวิตประจำวัน

ฉากทัศน์ที่ 2 และ 3 คล้ายกันคือ “วิกฤตที่แฝงด้วยโอกาส” และ “มวลชนผู้โดดเดี่ยว’ เป็นภาพที่แฝงอยู่ในสังคมเมือง ซึ่งผู้อยู่อาศัยจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตจากความตึงเครียดและสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เกี่ยวกับด้านการแพทย์ขึ้นมาตอบสนองทั้งเทเลเมดิซีน เทเลเฮลท์ เพื่อให้คำปรึกษา หรือแพลตฟอร์มที่หาคู่ หาเพื่อน ที่ตอบสนองการอยู่คนเดียว แต่ก็อาจเป็นดาบสองคม นำไปสู่ปัญหาทางสังคมใหม่ที่เราอาจจะต้องแก้ไขต่อไป

ฉากทัศน์ที่ 4 คือ “สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน” เป็นภาพที่เราเห็นว่า บางที่ยังเป็นชนบทที่ยังอยู่ในระดับชุมชน ไม่ได้เป็นสังคมเมืองโดยตรง และ 5 “จุดหมายแห่งความสุข” ภาพนี้เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด ทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตในเชิงสุขภาพจิตระดับสูง

ประเทศไทย สังคมสูงวัยเต็มตัว

“นพ.ฆนัท ครุธกูล” นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า ถ้าถามว่า “ทำไมธุรกิจการแพทย์จึงเติบโตมาก” คำตอบคือ “ไม่มีใครอยากตาย” และเมื่อไม่มีใครอยากตาย ดังนั้น ทุกคนจะแก่ เทรนด์ของผู้สูงอายุจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั่วโลก

เกณฑ์วินิจฉัยว่าสังคมนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปี มากกว่า 10% หรืออายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 7% ตอนนี้ประเทศไทยมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีอยู่ที่ 12.5% ดังนั้น ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2576

สังคมผู้สูงอายุมีผลต่อเรื่องของการดูแลรักษามาก ปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุคือปัญหาสุขภาพ ถ้าเขามีสุขภาพดีก็ยังสามารถทำงานได้ แม้จะอายุ 70 ถ้าเขาแข็งแรง เขามีศักยภาพ ในอนาคตเราอาจจะมีการปรับเพิ่มอายุราชการ

เทรนด์สุขภาพ

AI สำคัญ ผู้สูงอายุ-กลุ่มเปราะบางเข้าถึงการรักษา

นพ.ฆนัทกล่าวว่า ในทางการแพทย์เราแบ่งการดูแลสุขภาพตามเทรนด์ได้ 2 กลุ่มคือ “เวลเนส” (Wellness) คือที่หมายถึงกลุ่มที่ป้องกัน ฟื้นฟู ดูแล และส่งเสริม อีกกลุ่มคือ “ซิคเนส” (Sickness) ที่หมายถึงการเจ็บป่วย

ปัจจุบันมูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 6-8% ซึ่งแนวโน้มสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตของต่างประเทศที่อยู่ประมาณ 6% เพราะฉะนั้น ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญในด้านของเฮลท์แคร์มาก และถ้าเป็นตลาดในเซ็กเตอร์ของเฮลท์แคร์ นพ.ฆนัทกล่าวว่า อาจโตมากกว่านั้น 4-5 เท่าได้เลย

เรามีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีชาวตะวันออกกลางมาใช้บริการ มีโรงพยาบาลที่รองรับชาวพม่า กัมพูชา หรือลาว ที่ข้ามมารักษาในบ้านเรา ประเทศไทยในอนาคตจะเป็นฮับของเมดิคอลเวลเนส แต่การผลิตเเพทย์และบุคลากรของเรายังไม่เพียงพอ นพ.ฆนัทกล่าว

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุถูกพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งจุดเด่นคือด้านบริการที่ถูกจริตกับคนไทย เราอาจเเข่งด้านเทคโนโลยียาก แต่ถ้าเป็น Service Mind นักท่องเที่ยวหรือใครที่เข้ามาก็ประทับใจการดูแลของเรา

การลงทุนด้านนี้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัญหาผู้สูงอายุในต่างประเทศมีมาก เขาจะต้องเดินทางมาหาที่ดูแล ทั้งเรื่องสงครามในยุโรป สิ่งที่เราเห็นคือ นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครนเดินทางมาเมืองไทยโดยเฉพาะภูเก็ตและพัทยามากขึ้น ส่วนญี่ปุ่นก็มาอยู่ทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย และอยู่แบบระยะยาวมากกว่า 3 เดือน เพราะฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นเทรนด์สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์โดยเฉพาะ

ถ้าพูดถึงเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมการแพทย์ เทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอันดับแรกคือ AI และ Data Analysis นพ.ฆนัทกล่าวว่า ตอนนี้ใครป่วยสิ่งแรกที่ทำคือหา Google และค่อยไปพบหมอ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการวินิจฉัยและช่วยดูแลประชาชน ก็จะมีผลเรื่องข้อมูลที่ถูกต้อง หมอจึงมีหน้าที่ให้ข้อมูลที่เหมาะสมต่อการรักษาโรคของคนไข้

แม้ AI มีความสำคัญมากขึ้น แต่ในประเทศไทยจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ถ้าระบบข้อมูลในการดูแลรักษาพยาบาลไม่ดีพอ กล่าวคือโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีระบบที่แตกต่างกัน การทำงานจึงค่อนข้างยาก แต่ถ้าเรารวบรวมให้เป็นอันเดียวกันได้ จะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการเตียงที่ไม่ซ้ำซ้อน เป็นต้น

AI และ Data Analysis จะรวมไปถึงการวินิจฉัยโรคแบบใหม่ ๆ สมัยก่อนการเอกซเรย์ต้องให้หมออ่าน แต่ปัจจุบันมีการประมวลผลด้วยดิจิทัล (Image processing) ก่อนที่หมอจะดูอีกครั้ง ช่วยลดเวลาการวินิจฉัยของเเพทย์ลง ทำให้ไปดูแลหรือบริการคนไข้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่มีก็จะทำให้การวินิจฉัยเเม่นยำขึ้น

เทคโนโลยีถัดมาคือ ระบบหุ่นยนต์การแพทย์ ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้น สมัยก่อนเราอาจจะมองว่าไม่คุ้ค่า แต่เมื่อ 10 กว่าปีหลังเริ่มซื้อกันเข้ามา ทำให้มาตรฐานในการผ่าตัดโรคบางอย่างและรูปแบบการรักษาเปลี่ยนไป บางครั้งหุ่นยนต์สามารถเชื่อมโยงกับเทเลเมดิซีนได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถผ่าตัดหรือช่วยเหลือแพทย์ในห้องผ่าตัดจากภายนอกได้

ถัดไปเป็นเรื่อง Data Sensing หรือตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น การวัดความดันผ่านแอปพลิเคชั่น หรืออุปกรณ์ที่ติดตัวเราและสามารถวัดค่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ เช่น การวัดสัญญาณชีพ ดังนั้น การแพทย์จึงไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาลอย่างเดียวอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้การดูแลรักษาเข้าถึงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเปราะบาง

เทรนด์สุขภาพ
นพ.ฆนัท ครุธกูล

ธุรกิจรับสังคมสูงวัย

นพ.ฆนัทกล่าวว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มซื้อสินค้าบางอย่างมากขึ้น เพราะมีความกังวลด้านสุขภาพ และอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาสำคัญที่ผู้สูงอายุกังวลคือ จะมีเงินเพียงพอกับเวลาที่เหลืออยู่หรือไม่ ถ้าเขามีเงินเขาก็จะใช้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน

ต่อมาคือเรื่อง “ประกัน” อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกับผู้สูงอายุ เพราะเป็นความมั่นใจในชีวิต ซึ่งปัญหาใหญ่คือประกันไม่รับ เราต้องประเมิน หรือวิเคราะห์ความเสี่ยงว่าจะให้ประกันอย่างไร เพราะนี่คือตลาดใหญ่

เรื่องอาหารการกินก็สำคัญ ขนาดผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุจะลดลง เพราะพฤติกรรมกินน้อยลง บริการต่าง ๆ ก็จะต้องเปลี่ยนไป

อาหารเพื่อสุขภาพจะเป็นเทรนด์ของผู้สูงอายุที่ต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล น้ำตาลน้อย หรือไม่มีเลย และต้องมีส่วนประกอบที่ป้องกันหรือลดความเสี่ยงโรคที่จะเกิดกับผู้สูงอายุ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ตลอดจนย่อยง่ายเมื่อรับประทานไปแล้ว

อีกธุรกิจหนึ่งที่จะรองรับเทรนด์ผู้สูงอายุคือ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ต้องเหมาะกับวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุ ที่สภาพร่างกายเริ่มถดถอย เช่น เตียงนอนที่สามารถปรับระดับความสูงต่ำได้ เก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิง เป็นต้น

นอกจากนี้ ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างประชากรในปัจจุบันที่มีอัตราการมีลูกน้อยลง และลดการพึ่งพิงครอบครัว ทำให้มูลค่าของธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุขยายตัวแตะ 1.92 หมื่นล้านบาทในปี 2576

เทรนด์สุขภาพ
เกอร์นอท ริงลิ่ง

โรคอุบัติใหม่ ต้องรับมือ

ดร.ชัยธรกล่าวว่า ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับการอุบัติของโรคใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรที่สวนทางกับทรัพยากรทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจัยเหล่านี้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสต่าง ๆ และมีโอกาสที่ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น การพัฒนาประเทศต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน

นายเกอร์นอทกล่าวว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังคิดเป็นสาเหตุ 76% ของผู้เสียชีวิตในภูมิภาคนี้ ซึ่ง UN พยายามจะลดอัตราส่วนดังกล่าวให้เหลือเพียง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ซึ่งวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมาย ทุกภาคส่วนของการดูแลสุขภาพต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุง ทั้งเครื่องมือการแพทย์ อุปกรณ์บำบัดฟื้นฟู เทเลเมดิซีน ฯลฯ

อุปสงค์ของนวัตกรรมการดูแลสุขภาพจึงยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หน้ากากอนามัยที่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ยุคโควิด หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

เทรนด์สุขภาพ

หาโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก

ดร.ชัยธรกล่าวว่า ปัจจุบันเรามีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากกว่า 40 ราย ความยากคือเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ และมีมาตรฐานสูงที่เป็นลักษณะเฉพาะ การเติบโตจึงค่อนข้างยาก การลงทุนแต่ละโปรเจ็กต์ขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ แต่โดยรวมแล้วมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แค่การได้รับมาตรฐานก็มีค่าใช้จ่ายกว่า 1 ล้านบาทแล้ว

เมดิคัลเซอร์วิสของเราเป็นจุดดึงดูดอยู่แล้ว เรามีหมอเก่ง บริการดี การฟื้นฟูหลังจากนั้นก็ดี ส่วนอีกกลุ่มคือการพัฒนาเมดิคอลดีไวซ์ หรือโซลูชั่นต่าง ๆ ต้องบอกว่าแพลตฟอร์มเราทำได้ หมอและสตาร์ตอัพเราเก่ง ทำให้มีโอกาสในตลาด เพราะไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก

แต่ถ้าเป็นเครื่องมือแพทย์จะต้องใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีเชิงลึกและดาต้า สิ่งนี้เป็นอุปสรรค์พอสมควร เพราะต้องใช้บุคลากรหลายด้าน ส่วนนี้เราอาจจะยังไม่ได้มองถึงการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน แต่จะเป็นการหาโอกาสในการส่งออกและติดต่อตลาดข้างนอกมากกว่า ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ องค์การก็จะหาคนช่วยขายและดำเนินการ งานเมดิคอลแฟร์ต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ไปพบปะกับคู่ค้าในระดับโลก

เทรนด์สุขภาพ

อ่านข่าวต้นฉบับ: 3 เทรนด์สุขภาพแห่งอนาคต สังคมสูงวัย สุขภาพจิต และโรคอุบัติใหม่



ที่มา : Prachachat/d-life
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…3 เทรนด์สุขภาพแห่งอนาคต สังคมสูงวัย สุขภาพจิต และโรคอุบัติใหม่

"กุ๊บกิ๊บ" พาลูกๆ เที่ยว แต่ชุดนี้แม่สวยแซ่บแย่งซีนมาก
กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน “MFast” สตาร์ตอัพเวียดนาม รวม 6 ล้านดอลลาร์

Home