All News · September 27, 2023

ซีรีส์วายไทย ซอฟต์พาวเวอร์ทรงพลัง เติบโตระดับโลก

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามสำหรับ “FEE:D Y CAPITAL 2ND เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2” ที่เครือมติชนยกทัพนักแสดงซีรีส์ดังและศิลปิน T-POP ขึ้นโชว์เสิร์ฟความฟินแบบเต็มกราฟให้แฟน ๆ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา

นอกจากความบันเทิงแบบเต็มอิ่มแล้ว ภายในงานยังมี Special Talk ในหัวข้อ “อุตสาหกรรมซีรีส์วายไทย ในยุค 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ และโอกาสในตลาดโลก” โดย “โอ๋-ยชญ กรณ์หิรัญ” ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด “กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ตัวแทนผู้กำกับซีรีส์ และ “รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม” รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพูดคุย “ประชาชาติธุรกิจ” เก็บบางช่วงบางตอนของเวทีเสวนานี้มาฝากกัน

บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล

ซีรีส์วายไทยเติบโตก้าวกระโดด

โอ๋ ยชญ กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นการเป็นผู้บุกเบิกซีรีส์วายเจ้าแรกของไทย กับ “Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ” ตอนนั้นหลายคนมองว่าซีรีส์วายไม่น่าจะสร้างเม็ดเงินได้มหาศาลอย่างปัจจุบัน จากวันนั้นเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ตลาดซีรีส์วายเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเอเชีย รวมทั้งตลาดโลกอย่างละตินอเมริกาและยุโรป

แต่ก่อนตลาดที่การแข่งขันสูงคือละครช่อง แต่วันนี้คือซีรีส์วาย เพราะมีความหลากหลายทั้งหญิง-หญิง และชาย-ชาย ตลอดจนเรื่อง LGBTQ+ ด้วย

กอล์ฟ ธัญญ์วาริน กล่าวคล้ายกันว่า เราเคยทำเรื่อง “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” ซึ่งเกี่ยวกับครอบครัว LGBTQ+ และถูกแบนโดย พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 แต่วันนี้เราทำมาหากินได้จากการกำกับซีรีส์วายอย่างเชิดหน้าชูตา ซึ่งเนื้อหาพัฒนามาไกลมากและเกิดการยอมรับในสังคมมากขึ้น

แต่ก่อนวายไม่ถูกรวมอยู่ใน LGBTQ+ ด้วยซ้ำ จนสังคมเริ่มเห็นว่าคือเรื่องเดียวกัน สิ่งนี้คือการลื่นไหลทางเพศซึ่งไม่เคยถูกพูดถึงในสมัยก่อน ซีรีส์วายเติบโตและทำให้เห็นว่าการรับรู้เรื่องเพศสภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก

รศ.ดร.นัทธนัยเสริมว่า ซีรีส์วายเริ่มด้วยการดัดแปลงจากนวนิยาย ที่ต้องเข้าใจคือวายไม่ใช่อุตสาหกรรมซีรีส์ แต่เป็น “star-making business” เป็นทั้งอุตสาหกรรมเพลงและคอนเทนต์อื่น ๆ เวลามีซีรีส์วาย สิ่งที่บริษัทผู้ผลิตทำอยู่เสมอคือวางแผนการเล่าเรื่องข้ามสื่อ เป็นยุทธศาสตร์ transmedia ข้ามแพลตฟอร์ม เราเอานักแสดงไปร้องเพลง ทำแฟนมีตในไทยและต่างประเทศ เราไม่ได้ขายเนื้อหาอย่างเดียว แต่ขายประสบการณ์ร่วมทั้งหมดที่แฟนคลับมีต่อซีรีส์เรื่องนั้น ๆ

การเติบโตอีกอย่างที่เป็นตัวชี้วัด คือ คุณภาพ ยุคแรกซีรีส์วายจะถูกตีตราว่าเป็นซีรีส์เกรดบี แต่ตอนนี้ทุกอย่างเกิดจากการปั้น การยกระดับอุตสาหกรรม และการลงทุนที่มากขึ้น และเอกลักษณ์ของอุตสาหกรรมซีรีส์วาย คือ ปฏิสัมพันธ์ของแฟนกับอุตสาหกรรม แฟนจะมีส่วนร่วมและพื้นที่ในทุกขั้นตอนตั้งแต่แคสต์นักแสดงไปจนถึงแฟนมีต เป็นการทำงานร่วมกัน ไม่ได้จ้องจะขายอย่างเดียว เป็นโมเดลที่ไม่เหมือนวงการอื่น

พีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร

ซีรีส์วาย ซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง

กอล์ฟ ธัญญ์วาริน กล่าวว่า พลังของซีรีส์วายคือการได้สื่อสารกับแฟน ๆ โดยตรง เมื่อก่อนจะพูดเรื่อง LGBTQ+ ต้องซ่อนไว้ แต่เดี๋ยวนี้ทำได้ตรง ๆ แบบที่อยากทำ แม้บทที่เราทำจะอยู่ในประเทศแต่เหตุการณ์เป็นสากล ทำให้แฟนทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาซัพพอร์ตผลงานเรา

หลายประเทศบนโลกยังไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ มีทั้งผู้ถูกผลักให้เป็นคนอื่นในสังคมตัวเอง ส่วนประเทศที่มีกฎหมายรับรองก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนในประเทศจะเข้าใจหรือยอมรับด้วย

“การมาถึงของซีรีส์วายจึงเปรียบเหมือนบ่อน้ำเล็ก ๆ กลางทะเลทรายที่แฟน ๆ จากทั่วโลกเมื่อมาเจอกัน ได้สัมผัส ได้ดื่มกิน รู้สึกว่าตัวละครพูดแทนเขา รู้สึกว่าชีวิตเขามีเพื่อนและไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้”

โอ๋ ยชญ กล่าวว่า หากถามว่าเรียกซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หรือไม่ ตอบเลยว่า “ได้มาก ๆ” หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร ให้นึกถึง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” เกาหลีมีความฉลาดเรื่องส่งเสริมเอ็นเตอร์เทนเมนต์มาตั้งนานแล้วและโด่งดังไปทั่วโลก ถ้าซีรีส์วายสามารถแทรกซึมวัฒนธรรม การท่องเที่ยว อาหาร และสังคมลงไปได้ ทำไมซอฟต์พาวเวอร์จะทำให้ประเทศไทยเจริญไม่ได้

“เม็ดเงินในอุตสาหกรรมนี้มหาศาล อย่างน้อย 5 พันล้านบาทต่อปี ทั้งการจ้างพรีเซ็นเตอร์ การทำซีรีส์ การจ่ายเงินของแฟนคลับ สินค้าส่วนมากวันนี้ถ้าอยากได้กระแสก็ต้องขายคู่วาย เพราะความเป็นวายคือสังคมที่มีเสน่ห์ที่สุดในโลก เป็นครอบครัวใหญ่ที่พร้อมซัพพอร์ตคนที่ตัวเองรัก สังคมวายจะไม่มีวันตายไปจากโลกนี้ หากโลกนี้ยังมีความรักอยู่”

คนอาจมองว่าวายเติบโตแค่ในไทยหรือเอเชีย แต่วันนี้เรามีงานจ้างในยุโรปและละตินอเมริกา ถ้าเราทำได้ดี เรื่องลิขสิทธิ์มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรอซื้ออยู่แล้ว ยังไม่นับการขายให้เคเบิลทีวีต่างประเทศซึ่งจะเชื่อมโยงกับการไปจัดแฟนมีต ณ ประเทศนั้น ๆ ด้วย

“ยิ่งมีการแข่งขันในตลาดซีรีส์วายมากเท่าไร คนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือคนดู จะได้เห็นคุณภาพซีรีส์ที่ดีขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ทำวายแล้วดังหรือมีแฟนคลับแล้วจบ คนทำต้องรู้ว่าจะเดินทางไหนให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่อยู่ในใจแฟนคลับ แต่ต้องเป็นที่พูดถึงตลอดไป”

ด้าน รศ.ดร.นัทธนัยเห็นว่า สิ่งที่เป็นปัญหากับซอฟต์พาวเวอร์ คือ ไม่ได้โยงกับสิ่งที่ขายแบบผนึกเข้าด้วยกัน กิ่งก้านหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์คือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ อย่างเกาหลีใต้ก็ไม่ได้เสนอแค่เคพ็อปอย่างเดียว มีทั้งการเป็นประเทศที่รักสงบ มีเสถียรภาพ มีอารยธรรม ฯลฯ

ดังนั้น ต้องตีโจทย์ว่าภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศเราคืออะไรกันแน่ ซึ่งถ้าเอามาโยงกับซีรีส์วาย มีแฟนจำนวนมากที่ใช้มันในฐานะ “ทรัพยากรแห่งความหวัง” สิงคโปร์มองประเทศเราเป็น benchmark หรือโมเดลของซีรีส์วายเรื่องแรก นอกจากนี้ประเทศที่ปิดกั้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ ก็มองว่าสิ่งนี้คือความหวัง มองว่าไทยเหมือนที่หลบลี้ภัยสำหรับคนที่ถูกกดทับในประเด็นความหลากหลายทางเพศของประเทศเหล่านั้น เราจึงต้องถกกันต่อว่าอิทธิพลที่เกิดขึ้นดังกล่าวไปจริงหรือไม่จริง หรือเราควรจะทำอย่างไรต่อไป ควรจะทำอะไรกับซอฟต์พาวเวอร์นี้

ซีรีส์วาย ความหลากหลายทางเพศ

รศ.ดร.นัทธนัยกล่าวว่า เราต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้ผูกกับความเคลื่อนไหวทางสังคมและอุดมการณ์ต่าง ๆ เวลาจะขายอะไรไม่อยากให้คิดว่าจะขายอย่างเดียว ถ้าเราอยากขายเรื่องความหลากหลายทางเพศ การโอบรับต่าง ๆ เราจะขายได้เหรอถ้าสังคมเรายังไม่เปลี่ยนจริง ๆ

โอ๋ ยชญ เสริมว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลา วัฒนธรรมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น คนรุ่นเก่าเริ่มเปิดกว้าง เพราะโลกออนไลน์เข้าถึงมากขึ้น แน่นอนว่าเราไม่สามารถทำให้คนรุ่นเก่าเปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่เราเชื่อว่าสังคมปัจจุบันกำลังไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เคพ็อปและตัวตนซีรีส์ในไทย

โอ๋ ยชญ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฮับของซีรีส์วาย ซึ่งผลิตและส่งขายซีรีส์วายจำนวนมากที่สุดในโลก โดยต่างประเทศประเมินว่ากระแสของซีรีส์วายมีอิทธิพลสูงไม่ต่างจากเคพ็อป และเห็นได้ชัดเจนว่าซีรีส์วายสามารถก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศได้

แต่ทุกวันนี้เอกชนคือผู้ต่อสู้ฝ่าฟันและทำมันด้วยตัวเอง โดยที่ภาครัฐไม่ได้ปกป้องหรือผลักดันให้ไปไกลได้กว่าเดิม กระทรวงที่สำคัญและควรจะมองเห็นเราคือ กระทรวงวัฒนธรรม ทุกวันนี้เอกชนล้วนเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นตัวตน แน่นอนว่ารัฐมองเห็นแต่แค่มองเห็น เราอยากให้รัฐแอ็กชั่นด้วย

กอล์ฟ ธัญญ์วาริน กล่าวว่า ถ้าเราจะเป็นฮับซีรีส์วาย อยากให้โลกรู้จักไทยในฐานะผู้ผลิตซีรีส์อันดับ 1 ของโลก เราจะขายซีรีส์วายที่พูดถึงคนรักเพศเดียวกัน แต่กฎหมายยังไม่รองรับการมีตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่รองรับสมรสเท่าเทียม มันจะย้อนแย้งเกินไปหรือไม่ เราเชื่อว่ารัฐบาลมีความสามารถที่จะทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านได้ ถึงวันนั้นค่อยบอกโลกใบนี้ว่าซีรีส์วายจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองไทย

“เราจะมีซีรีส์วายที่บอกว่าประเทศเราปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+ เราจะเป็นเดสติเนชั่นของคนที่ถูกกีดกันจากทั่วโลก เราจะพูดได้เต็มปากถ้าเรามีกฎหมายรองรับ”

วงการภาพยนตร์เกาหลีไม่ได้วางแผนวันนี้แล้วได้ออสการ์พรุ่งนี้ ต้องมาจากไมนด์เซต การปลูกฝัง และการเปลี่ยนโครงสร้างความคิด ถ้าเราจะสู้กับเขาเราไม่สามารถไปได้ด้วยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เราต้องไปด้วยกัน

คอนเทนต์หรือเนื้อหาของเกาหลีสามารถวิจารณ์ประเทศเขาได้ แต่ในประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น สังคมที่ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ไม่สามารถพัฒนาครีเอติวิตี้ได้

รศ.ดร.นัทธนัยเสริมว่า ความสำเร็จของ cultural diplomacy ของเกาหลี ถ้าวัดแดจังกึมเป็นไมล์สโตน มันกินเวลาหลายทศวรรษ เราอยากได้ทุกอย่างแบบเร็วมากซึ่งมันไม่สามารถทำเร็วได้ ในการขายอุตสาหกรรมวาย รัฐไม่ต้องคิด ให้เอกชนคิด แต่รัฐช่วยซัพพอร์ต เพราะครีเอติวิตี้ ไม่ได้เกิดจาก top-down แต่เกิดจากการอนุญาตให้เสียงและความเห็นที่หลากหลายได้เปล่งออกมา

“ถ้าจะสนับสนุนโดยรัฐ รัฐต้องทำตัวเป็นผู้สนับสนุนให้มากขึ้น เป็นรัฐบาลให้น้อยลง”

อ่านข่าวต้นฉบับ: ซีรีส์วายไทย ซอฟต์พาวเวอร์ทรงพลัง เติบโตระดับโลก



ที่มา : Prachachat/d-life
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ซีรีส์วายไทย ซอฟต์พาวเวอร์ทรงพลัง เติบโตระดับโลก

"ดิว" ดี๊ด๊าปลุก "น้องไซลาส" ไปเที่ยว ตื่นเต้นสามีเซอร์ไพรส์ไม่บอกพาไปที่ไหน
ทั้งหวานทั้งแซ่บ "วุ้นเส้น" เดินจับมือ "ไฮโซนิกม์" ใส่ชุดเดรสแหวกอกลึก

Home