All News · November 8, 2023

ดอลลาร์ทรงตัว จับตาดูถ้อยแถลงประธานเฟด

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตาดูถ้อยแถลงประธานเฟด ในงานเสวนา 24th Jacques Polak Annual Research Conference ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่อไป

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/11) ที่ระดับ 35.51/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/11) ที่ระดับ 35.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์ถูกกดดันภายหลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าในภาคสินค้าและบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้น 4.9% สู่ระดับ 6.15 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.99 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยการนำเข้าปรับตัวขึ้น 2.7% สู่ระดับ 3.227 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกปรับตัวขึ้น 2.2% สู่ระดับ 2.611 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนในเวลาต่อมาจากถ้อยแถลงสนับสนุนการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของนายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอ โพลิส เพื่อสกัดและควบคุมเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้มีแนวโน้มปรับตัวลง แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่เฟดจะประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดในงานเสวนา 24th Jacques Polak Annual Research Conference ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก มั่นใจยอดส่งออกในปี 2566 จะหดตัวไม่มากนัก หลังแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคส่งออกที่กลับมาขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน และจากการสอบถามผู้ส่งออกทำให้ทราบว่ามีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี

สำหรับความกังวลเรื่องสงครามในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากยังคงอยู่ในวงจำกัดทั้งพื้นที่และคู่ขัดแย้ง นอกจากนี้มีการคงเป้าหมายส่งออกในปีนี้ว่าจะหดตัวไม่เกิน 1.5% ทามกลางปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจและภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตฟื้นตัวช้า อีกทั้งต้นทุนวัตถุดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และภาวะสงครามที่อาจส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่ง

สำหรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดย น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยผลการประเมินเบื้องต้นของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (30/10-5/11) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค และจำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่าที่คาดการณ์เป็นจำนวนมาก

โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวของเที่ยวบินจากภูมิภาคยุโรป และภูมิภาคเอเชียตะวันออก ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าและนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียปรับตัวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.46-35.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/11) ที่ระดับ 1.0687/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/11) ที่ระดับ 1.0684/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติของเยอรมนีรายงานเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.ของเยอรมนีหดตัว 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นการหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.1% ซึ่งถูกกดดันจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวลงและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0661-1.0698 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0665/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/11) ที่ระดับ 150.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/11) ที่ 150.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่องภายหลังการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ครั้งที่ผ่านมา (21-22/9)

โดยสมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการยกเลิกใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ควรจะเกิดขึ้นเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.45-150.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.71/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคการค้าส่งสหรัฐเดือนกันยายน (8/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (9/11), ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนประจำเดือนตุลาคม (9/11), รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน (9/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (10/11), ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (10/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.30/-9.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.40/-8.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์ทรงตัว จับตาดูถ้อยแถลงประธานเฟด



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์ทรงตัว จับตาดูถ้อยแถลงประธานเฟด

ธปท. ไฟเขียว KBANK เปลี่ยนโครงสร้างตั้ง “คอปฟิฟตี้” โฮลดิ้งลงทุนในธุรกิจการเงิน
นักลงทุนญี่ปุ่นเกือบ 200 บริษัท บุกจับคู่ไทย ขยายซัพพลายเชนยานยนต์- อิเล็กทรอนิกส์

Home