All News · December 3, 2023

จากโรค ASF ถึงหมูเถื่อน ทุบวงจรหมู ลุ้นปีหน้าพ้นราคาขาดทุน

สัมภาษณ์พิเศษ


ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายเป็นวาระร้อนที่นายกรัฐมนตรีลงมากำชับและสั่งการด้วยตัวเอง ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศนโยบายทำสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน และเพิ่มความเข้มข้นด้วยการจัดตั้ง ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ขึ้นมา และคิกออฟการทำงานอย่างเป็นทางการ

มอบธง ปล่อยขบวนชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุด ได้แก่ พญานาคราช (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ฉลามขาว (กรมประมง) พญาไท (กรมปศุสัตว์) สารวัตรเกษตร (กรมวิชาการเกษตร) ออกปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพ

โดยมีเป้าหมายว่าต่อไปนี้สินค้าเกษตรทุกประเภทที่นำเข้าสู่ราชอาณาจักร โดยผิดกฎหมาย ไม่ผ่านขั้นตอนทางพิธีการของกรมศุลกากร หรือไม่ผ่านการได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตรนั้น จะให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามเป็นหน้าที่หลัก เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน ทั้งยังจะยกระดับการตรวจสอบ ทุกกระบวนการ ดีเดย์ว่าหลังจากวันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่อีกครั้ง (บิ๊กคลีนนิ่งเดย์)

ในช่วง 15 วันระหว่างนี้ “ผู้ประกอบการขนส่ง” ที่มีห้องเย็นที่อยู่ตามรถบรรทุกต่าง ๆ ต้องไปขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมด เพราะหากพบว่าผู้ประกอบการไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะถือว่าเป็นผู้ประกอบการเถื่อนทั้งหมด และจะดำเนินคดีอาญาทันที

ขณะที่ฟากฝั่งการดำเนินคดีผ่านมาเกือบ 2 ปี นับจากปี 2564 ที่คาดว่ามีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 2,385 ตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาจึงไม่ใช่แค่ “หมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์” ที่ได้ผ่านการสรุปสำนวนคดีโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปแล้วเท่านั้น และยิ่งยืดเยื้อยาวนานยิ่งส่งผลกระทบต่อ “ราคาหมู” ที่เกษตรกรจำหน่ายได้ เกิดภาวะขาดทุนจนหลายรายขยาดไม่กล้าเลี้ยงใหม่

ล่าสุดมีการเปลี่ยนแม่ทัพ “ดีเอสไอ” ท่ามกลางการทำสงครามสินค้าเถื่อนที่กำลังร้อนระอุ สังคมจึงจับจ้องการทำงานของภาครัฐสเต็ปต่อไปว่าจะมีกลยุทธ์เอาชนะหมูเถื่อนอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ” หรือ “เฮียเภา” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคนใหม่ ที่เพิ่งก้าวรับตำแหน่งแทน “เสี่ยแดง” หรือ “สุรชัย สุทธิธรรม” ที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนาน 23 ปี ในฐานะตัวแทนภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาหมูเถื่อน ถึงสถานการณ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอย่างไร และทิศทางอุตสาหกรรมหมูไทยในปี 2567 จะเป็นอย่างไร

ขอบคุณนายกฯเศรษฐาลุยเอง

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีคำสั่งย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมนั้น คงไม่ทำให้ภารกิจคดีนี้สะดุด

“ผมยังเชื่อว่ารัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ปัญหาหมูเถื่อนต่อไป เพราะท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ท่านลงมากำกับเอง ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ที่ผ่านมาสมาคมยังไม่เคยเห็นมีนายกฯท่านไหนที่ลงมาจริงจังแบบนี้”

ส่วนเรื่องการแต่งตั้งอธิบดีดีเอสไอคนใหม่หลังจากนี้ คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะวางตัวใครมารับช่วงต่อ เพื่อให้ทำงานได้ทันที ส่วนแนวทางการทำงานของชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือหรือประสานขอทราบข้อมูลอะไร แต่ทางภาคเอกชนคงติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ราคาหมูดีขึ้นแต่ยังไม่พ้นขาดทุน

“หลังจากที่รัฐบาลเร่งการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ราคาหมูในตลาดขณะนี้เริ่มขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่ถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เราคงต้องขอบคุณท่านนายกฯที่มีความจริงจังในการแก้ปัญหาให้เกษตรกร โดยที่่ท่านมาสั่งการเอง ต้องยกเครดิตให้ท่าน เพราะผู้นำสูงสุดของเราให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้เลี้ยง ก็ถือว่าเป็นมิติที่ดีมาก”

สำหรับราคาหน้าฟาร์มตอนนี้ จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค มีสูงบ้าง ต่ำบ้าง ตั้งแต่ กก.ละ 60-75 บาท โดยหมูที่มีลักษณะสวยจะได้ราคา กก.ละ 72-74 บาท ส่วนที่ขายรายย่อยไม่ใช่ขายส่ง ขณะที่หมูที่ขายส่งจะอยู่ที่ กก.ละ 60-65 บาท ซึ่งเมื่อคิดเป็นราคาขายปลีกหน้าเขียงจะอยู่ที่ระดับที่ไม่เกิน กก.ละ 150 บาท

ราคาตรงนี้กระทรวงพาณิชย์มีการกำกับดูแล ไม่ให้สูงหรือต่ำกว่านี้ ทางเราก็ขอให้ติดตามเพราะในห้างต่าง ๆ มักจะมีการทำโปรโมชั่น โดยกำหนดราคาต่ำ ๆ แม้ว่าจะนำหมูมาทำโปรโมชั่นปริมาณไม่มาก แต่ก็ทำให้ฐานราคาเสีย เพราะเป็นราคาโปรโมชั่นนั้นจะถูกนำไปใช้เป็นราคาอ้างอิงในตลาด

“ราคาหมูเริ่มขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนเกษตรกรที่เราคำนวณหลังสุดอยู่ที่ กก.ละ 76-78 บาท ซึ่งจะเห็นว่าราคาหน้าฟาร์มที่ปรับขึ้นตอนนี้ 60-75 บาท ก็ยังไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีกำไร จำเป็นต้องปรับเพิ่มอีกนิดหนึ่ง หากสามารถปรับขึ้นไปถึง กก.ละ 78-80 บาท จะพออยู่ได้ และราคาหน้าเขียงจะไปอยู่ที่ 155-160 บาท ก็ยังไม่สูงไม่กระทบประชาชนมาก”

โอกาสที่จะขยับราคาอีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้ ยังพอมีวันพระอีก 4 ครั้ง แต่การจะปรับราคาหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ต้องดูกำลังซื้อของประชาชนด้วย ทางเราคาดหวังว่า หากรัฐบาลออกนโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ได้สัมฤทธิผลก็จะทำให้กำลังซื้อในประเทศดีขึ้นได้

เพราะว่าจริง ๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยตอนนี้ไม่ใช่ดีอย่างที่ทราบ จีดีพีลงมาเหลือแค่ 1.5% เศรษฐกิจบ้านเรายังคลุมเครือยังไม่ได้ฟื้นขึ้นมา พอกำลังซื้อไม่ดี เราก็เบรกการขึ้นราคาไว้ก่อน เพราะชาวบ้านจะไม่มีเงินมาจับจ่าย

วอนรัฐแก้ปม “ต้นทุนอาหารสัตว์”

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งเราก็หวังว่าอยากให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาต้นทาง ให้สถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์คลี่คลายลง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ นั่นคือ เท่ากับว่ารัฐบาลต้องยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตัวที่ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารไทยเคยเสนอขอ คือ กากถั่วเหลือง 2% ที่ทำไปตลอด แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ยกเลิกให้ ทั้งยังมีการใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 ให้ไปซื้อวัตถุดิบภายใน 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน

“ตามข้อเท็จจริงเราจะไปหาซื้อวัตถุดิบได้ที่ไหน เพราะในประเทศมีข้าวโพดไม่เพียงพอ ผลผลิตออกมาถึงแค่ ม.ค.ก็หมด พอเข้าสู่เดือน ก.พ.ไปถึงปีถัดไปก็ไม่มีในมือเกษตรกรแล้ว แล้วจะไปเอา 3 ต่อ 1 มาจากไหน เพราะผลผลิตหมดแล้ว เท่ากับเราต้องไปซื้อกับพ่อค้าคนกลางเป็นการโยนสิ่งที่ทำให้พ่อค้าคนกลางได้กำไรไป ผู้เลี้ยงก็ฝากความหวังไว้ที่ท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เพราะท่านมาจากการเลือกตั้ง อาจจะมองถึงภาคเกษตรกร ผู้บริโภคทั้งสองด้านให้เกิดความสมดุล”

แนวโน้ม “หมู” ปี 2567

ในปี 2567 ยังทรง ๆ แต่ราคาอาจจะสูงขึ้นมาจนหนีต้นทุนได้ ในไตรมาสที่ 2 เกษตรกรถึงจะไม่ขาดทุน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐจะปราบปรามหมูที่ลักลอบนำเข้ามาหมดไหม ถ้าหมูเถื่อนหมดเร็ว โอกาสที่เกษตรกรที่จะไม่ขาดทุนก็เร็วขึ้น

สำหรับภาพรวมการเลี้ยงปริมาณมีเพียงพอ เพราะไทยมีการปรับตัวได้เร็วมาก โดยเฉพาะในด้านวิชาการ ไทยไม่เป็นสองรองใคร เราน่าจะเป็นเบอร์ 1 ในเอเชีย ระบบการเลี้ยงของเราสามารถดูแลได้ครอบคลุม และปลอดภัย อย่างเจอโรคเอเอสเอฟก็สามารถฟื้นฟูการเลี้ยงกลับมาได้เร็วมาก

“รายย่อยอาจจะหายไปส่วนหนึ่ง เพราะเจอโรคระบาด การกลับมาเลี้ยงก็จะลำบาก และแถมกลับมาแล้ว ราคาตกอีก ก็ยังลังเลว่าจะเลี้ยงต่ออีกหรือไม่ ส่วนภาคบริษัทก็มีการขยายเพิ่มขึ้น แต่ผมว่าอีกระยะหนึ่งจะปรับเข้าสู่สมดุลกัน เพราะว่าตอนนี้การเลี้ยงหมูจำนวนตัว ลูกมันดกขึ้น

เท่าที่ทราบปริมาณการเชือดทั่วประเทศตอนนี้ อยู่ที่ 50,000 ตัวต่อวัน การบริโภคภายในเพียงพอและเหลือด้วย เพราะมีหมูเถื่อนเข้ามา เราจึงพยายามผลักดันขอให้มีการส่งออก ซึ่งเดิมส่งออกได้เฉพาะเนื้อไปฮ่องกง ส่วนหมูมีชีวิตที่ตลาดรอบบ้านเราก็ส่งไม่ค่อยได้ เพราะราคาใกล้เคียงกัน”

ส่วนข้อเสนอแนะในการปลดล็อกปัญหาส่งออกนั้น ผมว่าทางกรมปศุสัตว์ก็ช่วยหาวิธีการช่วยอยู่แล้ว ผมมองว่าปี 2567 อุตสาหกรรมหมูจะเรียกว่าพ้นจุดต่ำสุดได้ ฝากความหวังไว้กับท่านนายกรัฐมนตรีมากำกับและสั่งการเองตลอด

จับตา “โครงสร้างการเลี้ยง” เปลี่ยนแล้ว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้บทสรุปว่า จากวิกฤตโรคเอเอสเอฟที่ผ่านมาจนมาถึงปัญหาหมูเถื่อน ทำให้ภาวะที่โครงสร้างการเลี้ยงในอุตสาหกรรมหมูเปลี่ยนไปแล้ว เพราะสัดส่วนรายย่อยลดลงมาก็ส่งผลกับอุตสาหกรรมทั้งหมด รายย่อยล้มหายตายจากไปจะเหลือเฉพาะบริษัทใหญ่ที่แข่งขันกันเอง

หลังจากรายย่อยไป รายเล็ก รายกลางก็จะหายไปด้วย วิถีการแข่งขันก็รอบด้าน ซึ่งต่อไปการนำเข้าอะไรต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น และข้ออ้างในการคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยก็จะไม่มี และก็จะกลายเป็นการแข่งขันในระดับโลก ระดับประเทศกับประเทศ เหมือนกับอุตสาหกรรมไก่เนื้อ

“สำหรับผมมองภาพอุตสาหกรรมหมูที่อยากเห็นนั้นเป็นภาพที่ควรจะไปด้วยกันหมด ทั้งรายย่อยและผู้เลี้ยงรายใหญ่ ๆ ค่อย ๆ ประคองกันไปจะดีกว่า”

อ่านข่าวต้นฉบับ: จากโรค ASF ถึงหมูเถื่อน ทุบวงจรหมู ลุ้นปีหน้าพ้นราคาขาดทุน



ที่มา : Prachachat/economy
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…จากโรค ASF ถึงหมูเถื่อน ทุบวงจรหมู ลุ้นปีหน้าพ้นราคาขาดทุน

"กิต Three Man Down" ออกมาขอขอโทษแล้ว ปมดราม่าวีรกรรมวัยเรียนรุนแรง
"เบลล่า" ขับรถพอร์ชคันหรู สะดุดตาพวงมาลัยดาวเรือง เจ้าตัวเล่าที่มาหลายคนยิ้มเลย

Home