All News · December 14, 2023

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 67 มั่นใจเงินเฟ้อชะลอ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/12) ที่ระดับ 35.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/12) ที่ระดับ 35.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก โดยดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.91 ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ (13/12)

ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้าและนับเป็นครั้งแรกที่เฟดมีมุมมองบวกว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะชะลอตัวลง ประกอบกับนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า “เฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะไม่สร้างความผิดพลาดด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเกินไป”

โดยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในการประชุมเดือน ก.ย. นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งในปี 2568

โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.00% ส่วนในปี 2569 เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดลดลงสู่ช่วง 2.00-2.25% ซึ่งใกล้กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.50% นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตประจำเดือน พ.ย.

โดยดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.0% จากระดับ 1.2% ในเดือน ต.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปไม่เปลี่ยนแปลงในเดือน พ.ย. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% หลังจากปรับตัวลง 0.4% ในเดือน ต.ค. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI)

ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.2% จากระดับ 2.3% ในเดือน ต.ค และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงในเดือน พ.ย. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.0% ในเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.05-35.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/12) ที่ระดับ 1.0887/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/12) ที่ระดับ 1.0784/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรสแตท (Eurostat) ซึ่งเป็นสำนักงานสถิติของสหภาพยุโป (EU) เปิดเผยในวันพุธ (13 ธ.ค.) ว่า

การผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนลดลงเกินคาดในเดือน ต.ค. โดยสินค้าทุน อาทิ เครื่องจักร ร่วงหนักที่สุด ซึ่งตอกย้ำถึงผลการสำรวจที่บ่งชี้ว่า ยูโรโซนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศสมาชิก EU ทั้ง 20 ประเทศปรับตัวลดลง 0.7% ในเดือน ต.ค. เมื่อทียบเป็นรายเดือน และลดลง 6.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้

โดยเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 0.1% ในไตรมาส 3/2566 และคาดว่าจะหดตัวลงอีกในช่วงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นการยืนยันว่า EU กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยคืนนี้ตลาดจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB โดยตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 4.50% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0871-1.0915 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0910/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/12) ที่ระดับ 142.37/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/12) ที่ 145.84/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

โดยตลาดยังคงจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาครกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 18-19 ธ.ค. โดย BOJ มีแนวโน้มยุติการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายโดได้มีการกล่าวว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ทำให้นักลงทุนตีความว่าทางการญี่ปุ่นอาจจะเตรียมส่งสัญญาณในอนาคตอันใกล้ว่าจะยกเลิกการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ

ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2559 โดยผู้ร่วมตลาดบางส่วนคาดว่า BOJ อาจตัดสินใจส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติในการประชุมในวันที่ 18-19 ธ.ค. ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.94-142.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.71/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (14/12) และธนาคารกลางยุโรป (14/12), ตัวเลขยอดค้าปลีกประจำเดือน พ.ย.ของสหรัฐ (14/12), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/12), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ย.ของจีน (15/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซน และสหรัฐ (15/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.90/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.40/-7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 67 มั่นใจเงินเฟ้อชะลอ



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 67 มั่นใจเงินเฟ้อชะลอ

หุ้นไทย อีกปีที่เลวร้าย เปิดสถิติ ‘ต่างชาติ’ ขายทิ้ง 5 ปีติด
Night at the Museum 2023 “วังรื่นฤดี” คิวชมภายในพระตำหนักเต็ม 3 วันรวด

Home