All News · February 18, 2024

เปิดมุมคิด “เศรษฐา ทวีสิน” จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน

ไฮไลต์สำคัญในงานเสวนา Thailand Energy Executive Forum ที่จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) สมาคมวิทยาการพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คือการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ชี้ว่า ภาคพลังงานมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศและเกี่ยวโยงกับทุกเรื่อง

แม้ว่าไทยจะเป็นสังคมที่ภาคเกษตรเป็นสัดส่วนที่สูง แต่ “ค่าพลังงาน” นับว่าเป็นหนึ่งในต้นทุนที่เกษตรกรต้องจ่าย ยกตัวอย่าง เช่น การทำนา มีค่าไฟ 500 บาทต่อตัน เทียบกับต้นทุนการผลิตที่ 5,000-6,000 บาทต่อตัน สะท้อนว่า พลังงาน คำนี้มีส่วนสำคัญในชีวิตของประชาชนคนไทย

อุดหนุนพลังงานยังจำเป็น

“ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด มีข้อสั่งการในการลดค่าไฟสำหรับเครื่องสูบน้ำการทำนา คำว่า ซับซิไดซ์ ในฐานะที่เอกชนมาก่อน เป็นคนรับผิดชอบในการจ่ายภาษีเยอะ เรื่องพวกนี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เป็นเรื่องอ่อนไหว แต่เราเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องทำเพื่อลดช่องว่างทางสังคม

อย่างไรก็ตามการให้ความช่วยเหลือควรให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่รอพึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อีกด้านการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้นั้น ได้สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ เพราะขณะนี้ถือว่าเป็นพลังงานที่ถูกที่สุด

“พลังงานสะอาด” ดึงลงทุน

นายกรัฐมนตรีระบุว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่ง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เห็นว่า “พลังงานสะอาด” เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการดึงดูดการลงทุนนอกเหนือไปจากสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคแล้ว นักลงทุนทั้งสหรัฐ จีน รวมถึงยุโรป ทุกที่ต่างสอบถามถึงความพร้อมด้านพลังงานสะอาดของไทย

ซึ่งข้อมูลรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) สถานะไทยอยู่อันดับที่ 30 กว่าของโลก แต่ไทยสูงที่สุดในอาเซียน ดีกว่าหลายประเทศ

“ผมเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานให้ความสำคัญและตระหนักดีในเรื่องการพัฒนาเรื่องพลังงานสะอาดจะเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาได้ โดยการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศไทยนั้นหากตัดเรื่องนิวเคลียร์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและถูกที่สุดออกไป ไทยว่าโชคดีที่ในอดีต 50-60 ปีที่ผ่านมา ไทยมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก จนทำให้ไทยเป็นต่อประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนที่มีปัญหาไฟดับตลอด”

อีกทั้ง ปัจจุบันหลังเขื่อนสามารถทำโฟลตติ้งโซลาร์ได้อีก 5,000-15,000 เมกะวัตต์ ซึ่งนับได้ว่าเป็น Source of Energy หนึ่งที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นจุดขายของประเทศไทยได้ เหนือสิ่งอื่นใดเชื่อว่า พลังงาน จะเป็น Key Factor ในการ Drive ประเทศไปข้างหน้า

เปิดสูตรเจรจา OCA

เมื่อสัปดาห์ก่อน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเดินทางมาเยือนไทย เราสองประเทศนับว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและได้มีการพูดคุยในหลายเรื่อง โดยไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ด้านการค้า และด้านสังคมเท่านั้น แต่ยังหารือถึงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Areas-OCA) ระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งมีการคาดการณ์ถึงมูลค่าการลงทุนที่อาจสูงถึง 20 ล้านล้านบาท แต่การเจรจา OCA ยังมีปัญหาเรื่องเขตแดน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว

“ผมขอแบ่งเรื่อง OCA เป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ทับซ้อนกับเรื่องของขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ และจะพยายามนำสินทรัพย์ชิ้นนี้ออกมาใช้ได้เร็วที่สุด ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน Brown Energy ไปสู่ Green Energy ขอให้สบายใจว่าเราจะเดินหน้ากันต่อไปโดยพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ แต่ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ หากสำเร็จส่งผลต่อเรื่องราคาพลังงาน”

กลไกการแก้ปัญหาค่าไฟ

ประเด็นเรื่องค่าพลังงานนับว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศและดึงดูดการลงทุน

โดยนักลงทุนหลายรายที่กำลังจะลงทุนไม่ว่าจะเป็น Google Microsoft AWS ที่จะมาลงทุนหลายแสนล้านบาท เขาให้ความสำคัญ “ราคาพลังงาน” ที่จะต้องสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งเราเป็นต่ออยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม “ค่าไฟ” ยังเป็นปัญหาอยู่ รัฐบาลได้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องเรื่องของความพร้อมจ่าย (แบ็กอัพ)

“มีการสอบถามกันมาว่ามีกลไกอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งค่า PPA การขอใช้กริดของโรงงานไฟฟ้าในปัจจุบัน (Grid Electrical) แต่การ Ignor กลไกตลาดจะไม่สามารถทำได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมาจะต้องมีผู้จ่ายอยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่โอนกลับไปจ่ายให้กับผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินกลับคืนอยู่ดี แต่ว่าความเชื่อมั่น และความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ การทุบโดยไม่ต้องสนใจกลไกการตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟถูกอยู่ไม่กี่วัน ก่อนที่จะควักเอาเงินของประชาชนมาจ่าย”

ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศนั้นจะต้องดำเนินการทุกมิติ ไม่ใช่เพียงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกนักลงทุนให้ Ease of Doing Business ดีขึ้น แต่ที่สำคัญยังต้องรวมถึงการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญทุกเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่สำหรับรัฐบาล“เรื่องใดทำได้จะต้องทำก่อน” แต่จะทำเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ จะต้องวางรากฐานกันไป หากเรื่องใดไม่จบในรัฐบาลนี้ รัฐบาลต่อไปต้องทำต่อ

“สิ่งที่ผมแปลกใจที่สุดในการเป็นนายกรัฐมนตรี คือ The amount of power I have, but most of the time the lack of it. มันมีกลไก การบริหารจัดการแผ่นดินเยอะ ซึ่งเป็นกลไกที่เราต้องการความสมัครสมานสามัคคีจากทุกฝ่าย เป็นกลไกที่ต้องสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการพูดคุยกันเรื่องที่เห็นต่าง ผมเชื่อว่าทุกคนรับรู้ความหวังดีของผมและของรัฐบาลที่จะผลักดันกลไกอุตสาหกรรมไปข้างหน้าควบคู่เรื่องของพลังงาน”

อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดมุมคิด “เศรษฐา ทวีสิน” จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน



ที่มา : Prachachat/economy
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…เปิดมุมคิด “เศรษฐา ทวีสิน” จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน

SCB ชี้แจงคำหน้าชื่อ “คุณ” รับพนักงานผิดพลาด ยืนยันต้องใช้ตามเอกสารทางราชการ
จับชีพจรท่องเที่ยวไทยปีมังกร พร้อมกลับสู่ระดับ Pre-COVID แล้วหรือยัง ?

Home