All News · June 4, 2024

ดอลลาร์อ่อนค่า คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยหลังภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัว

ดอลลาร์อ่อนค่า คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยหลังภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัว

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/6) ที่ระดับ 36.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/6) ที่ระดับ 36.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอเกินคาด ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ว่าเมื่อวันศุกร์ (31/5) สหรัฐได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้นตามคาดในเดือน เม.ย.

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือน เม.ย.เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน เม.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%

อย่างไรก็ดีเมื่อวานนี้ (3/6) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 48.7 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 49.2 ในเดือน เม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 49.6 โดยดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 59% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 53% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ นอกจากนี้ S&P Global เปิดเผยว่า PMI ภาคการผลิตของไทยในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.3 สูงกว่าเดือน เม.ย. ที่ระดับ 48.6 ตัวเลขที่สูงกว่าระดับ 50 ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจขยายตัว ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.52-36.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/6) ที่ระดับ 1.0906/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/6) ที่ระดับ 1.0833/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้แรงหนุนหลังข้อมูลบ่งชี้ว่าแรงกดดันราคาในยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับสูง จากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดในฝรั่งเศส, เยอรมนี และสเปน

ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตได้ยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0868-1.0916 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0874/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/6) ที่ระดับ 156.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/6) ที่ระดับ 157.06/07 อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยข้อมูลเมื่อวันศุกร์ (31/5) บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคพื้นฐานในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน พ.ค. ปรับตัวขึ้นจากระดับ 1.8% ในเดือน เม.ย.

นอกจากนี้กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเผยแพร่ข้อมูลว่าทางการญี่ปุ่นได้ใช้เงิน 9.79 ล้านล้านเยน (6.22 หมื่นล้านดอลลาร์) ในการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินเยนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ช่วยไม่ให้ค่าเงินเยนร่วงทดสอบระดับต่ำสุดใหม่ แต่ไม่มีแนวโน้มที่จะพลิกฟื้นจากแนวโน้มการลดลงในระยะยาว ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 155.02-156.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 155.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน เม.ย. (4/6) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน เม.ย. (4/6), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค.จาก ADP (5/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้าย (5/6), ดัชนีภาคบริการเดือน พ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (5/6),

สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ (5/6), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ (5/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (6/6), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน เม.ย. (6/6), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน เม.ย. (7/6) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. (7/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.5/-9.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.0/-5.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์อ่อนค่า คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยหลังภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัว



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์อ่อนค่า คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยหลังภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัว

กรุงไทย แจังพัฒนาระบบ NDID 5-12 มิ.ย. 67 กระทบบริการอะไร เช็กที่นี่
‘พีระพันธุ์‘ ตั้งระบบสำรองน้ำมัน SPR รัฐคุมราคากลาง บีบผู้ค้าน้ำมันโชว์ต้นทุนแท้จริง

Home