All News · June 7, 2024

ECB ลดดอกเบี้ย ขณะตลาดจับตาตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ

ECB ลดดอกเบี้ย ขณะตลาดจับตาตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ

วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 4-7 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (4/6) ที่ระดับ 36.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/5) ที่ระดับ 36.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอเกินคาด ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ว่าเมื่อวันศุกร์ (31/5) สหรัฐได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้นตามคาดในเดือนเมษายน

โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานประจำเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปประจำเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานประจำเดือนเมษายน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญปรับตัวขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานประจำเดือนเมษายนปรับตัวขึ้น 0.2% ต่ำว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%

อย่างไรก็ดี เมื่อวันจันทร์ (3/6) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 84.7 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 49.2 ในเดือนเมษายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 49.6 โดยดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลงสู่ระดับ 8.06 ล้านตำแหน่งในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8.4 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 8.36 ล้านตำแหน่งในเดือนมีนาคม สถาบัน ADP มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 152,000 ตำแหน่ง หลังจากที่การปรับตัวเพิ่มขึ้น 188,000 ตำแหน่ง ในเดือนเมษายน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 173,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ สถาบันจัดการอุปทานของสหรัฐ (ISM) ยังมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการประจำเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 53.8 พุ่งขึ้นจากระดับ 49.4 ในเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และอยู่เหนือระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 51.1 โดยดัชนีที่อยู่เหนือ 50.0 บ่งชี้ว่าภาคการบริการของสหรัฐยังคงขยายตัว

สำหรับตัวเลขที่มีการเปิดเผยวันพฤหัสบดี (6/6) ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 229,000 ตำแหน่ง สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ตำแหน่ง จากผลการสำรวจล่าสุดโดย CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ความเป็นไปได้ว่าเฟดมีโอกาสประมาณ 70% ที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่า 50% ในการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูการเปิดเผยตัวเลขภาคตลาดแรงงานของสหรัฐ ทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ ประจำเดือนพฤษภาคมในวันศุกร์ (7/6) เพื่อประเมินหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 186,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่ง ในเดือนเมษายน และตัวเลขอัตราว่างงานซึ่งคาดว่าจะคงทรงตัวที่ระดับ 3.9% ในเดือนพฤษภาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ S&P Global เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของไทยในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.3 สูงกว่าเดือนเมษายนที่ระดับ 48.6 ตัวเลขที่สูงกว่าระดับ 50 ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจขยายตัว อย่างไรก็ดี ยังพบแรงเทขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในดัชนีหุ้นของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยถ้าเริ่มนับมูลค่าตั้งแต่ต้นปี 2567 มียอดขายรวมสะสมรวมกว่า 9 หมื่นล้านบาท

สำหรับในวันศุกร์ (7/6) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนพฤษภาคมเท่ากับ 108.84 จุด ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยปัจจัยที่กระทบเงินเฟ้อมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน

ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.30-36.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และเปิดตลาดในวันศุกร์ (7/6) ที่ระดับ 36.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันอังคาร (4/6) ที่ระดับ 1.0906/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/5) ที่ระดับ 1.0833/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (6/6) โดยเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2562 รายละเอียด ดังนี้

1.อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (refinancing operation rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 4.25% 2.อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (deposit facllity rate) อยู่ที่ระดับ 3.75% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (marginal lending facllity rate) อยู่ที่ระดับ 4.5% โดย ECB คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 2.2% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ระดับ 2% ซึ่งหมายความว่าเงินเฟ้อจะอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของ ECB ไปจนถึงปีหน้า

ทั้งนี้นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า มีกรรมการ ECB เพียงรายเดียวที่คาดการณ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ยังเห็นการปรับตัวลงอย่างมากของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และความเชื่อมั่นในการคาดการณ์ของ ECB สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ (7/6) ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประจำเดือนพฤษภาคมออกมาที่ระดับ -0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0825-1.0915 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/6) ที่ระดับ 1.0888/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันอังคาร (4/6) ที่ระดับ 156.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/5) ที่ระดับ 157.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยข้อมูลเมื่อวันศุกร์ (31/5) บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคพื้นฐานในกรุงโตเกียวประจำเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 2.2% ปรับตัวขึ้นจากระดับ 1.8% ในเดือนเมษายน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเผยแพร่ข้อมูลว่าทางการญี่ปุ่นได้ใช้เงิน 9.79 ล้านล้านเยน (6.22 หมื่นล้านดอลลาร์) ในการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินเยนจากการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ช่วยไม่ให้ค่าเงินเยนร่วงทดสอบระดับต่ำสุดใหม่ แต่ไม่มีแนวโน้มที่จะพลิกฟื้นจากแนวโน้มการลดลงในระยะยาว ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 154.53-157.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/6) ที่ระดับ 157.17/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ECB ลดดอกเบี้ย ขณะตลาดจับตาตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ECB ลดดอกเบี้ย ขณะตลาดจับตาตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ

จับตาการลงทุนครั้งใหญ่หลัง “พิมพ์ภัทรา” เยือนจีน
สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ชุดถุงเงิน ลุ้น 1 แสนบาท 900 รางวัล เริ่ม 17 มิ.ย. นี้

Home